วิตามินบี 1 มีบทบาทความสำคัญที่มากกว่าหลาย ๆ คนเข้าใจ เพราะอย่างที่รู้กันว่าหากขาดวิตามินบี 1 ขึ้นมา โรค เหน็บชาจะเตือนให้เราต้องเติมวิตามินบี 1 ให้ร่างกายมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่อยากให้รู้เพิ่มขึ้นอีกนิดก็คือ สัญญาณของการขาดวิตามินบี 1 ไม่ได้มีแค่อาการเหน็บชาเท่านั้น แต่ยังมีอาการอื่น ๆ ที่ต้องใส่ใจให้ดีด้วย ไม่อย่างนั้นภาวะขาดวิตามินบี 1 อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เลย
อาการขาดวิตามินบี สามารถดูได้จากสัญญาณดังต่อไปนี้
- อาการเหน็บชาปลายมือ ปลายเท้า อาจรู้สึกแปล๊บ ๆ ร่วมด้วย
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- เบื่ออาหาร
- ท้องอืด ท้องผูก
- เป็นตะคริวบ่อยขึ้น
- ปวดน่อง
- แขนขาไม่มีแรง
- หอบเหนื่อย
- ปัสสาวะน้อยลง
- อารมณ์แปรปรวน
- น้ำหนักลด
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หัวใจล้มเหลว
ทั้งนี้สัญญาณของการขาดวิตามินบี 1 จะขึ้นอยู่กับปริมาณการขาดวิตามินบี 1 ของแต่ละบุคคล ซึ่งหากมีภาวะขาดวิตามินบี 1 เพียงเล็กน้อย อาจเกิดโรคเหน็บชา และอ่อนเพลียให้รู้สึกบ้าง
ทว่าในรายที่ขาดวิตามินบี 1 มาก จะมีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนชา ขาชา อาจมีอาการทางสมอง ตากระตุก ตาเหล่ เดินเซ อาเจียน จนมีอาการซึม อาจกระทบไปถึงการทำงานของระบบหัวใจ ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อย เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตได้ หรือหากเลือดไปเลี้ยงส่วนใดของร่างกายไม่เพียงพอ ก็อาจเกิดปัญหาที่ระบบนั้น เช่น ไตวาย
การขาดวิตามินบี 1 สังเกตได้จากอาการเหน็บชา ทว่านอกจากนั้นแล้วยังอาจมีสัญญาณอันตรายต่อสุขภาพที่ควรต้องใส่ใจมากขึ้นก่อนจะสายเกินไปด้วย
การรักษาอาการขาดวิตามินบี 1 ทำได้โดย
- รับประทานอาหารที่มีวิตามินบีสูง อย่างข้าวซ้อมมือไม่ขัดสี ไข่แดง ตับ เครื่องในสัตว์ โยเกิร์ต นม ถั่ว และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 อย่างหมาก พลู ชา ปลาร้า และปลาน้ำจืดบางชนิดด้วย
- ในเคสที่มีอาการโรคเหน็บชารุนแรง ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก อาจรักษาอาการขาดวิตามินบี 1 ได้ด้วยการฉีดไธอะมินปริมาณสูงสุดที่ 100 มิลลิกรัม (ขนาดของไธอะมินขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์) เข้าสู่เส้นเลือดดำ ซึ่งนับว่าเป็นการรักษาที่ให้ผลได้อย่างเต็มที่ในทันที
- วิตามินบี 1 ต้องกินเท่าไรถึงเรียกว่าเพียงพอ ?
- การกำหนดค่าปริมาณไธอะมินอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน (Dietary Reference Intake, DRI) ของประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เมื่อปี ค.ศ. 2000 ได้กำหนดค่าประมาณของความต้องการไธอะมินที่ควรได้รับประจำวัน (Estimated Average Requirement, EAR) ไว้ที่ 1.0 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย และวิตามินบี 1 ปริมาณ 0.9 มิลลิกรัมสำหรับเพศหญิง
- ทั้งนี้สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร ควรเพิ่มปริมาณการรับวิตามินบี 1 ให้มากกว่าปกติอีก 0.3 มิลลิกรัม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของสภาวะร่างกายในขณะนั้น
- และสำหรับเด็กทารกวัย 6-8 เดือน ควรได้รับวิตามินบี 1 จำนวน 0.3 มิลลิกรัม ส่วนเด็กแรกเกิดจนถึงวัย 5 เดือน ควรได้รับวิตามินบี 1 จากน้ำนมแม่ในอัตราส่วน 0.2 มิลลิกรัม ซึ่งก็หมายความว่าคุณแม่ต้องมีวิตามินบี 1 ในร่างกายที่เพียงพอสำหรับลูกน้อยด้วยนั่นเอง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– กรมอนามัย
– คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
– Kapook.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM