โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ อันตรายกว่าที่คิด (Late-life depression)

ภาวะอารมณ์เศร้า หรือโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (Late-life depression) เป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดในผู้สูงวัย ช่วงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แบ่งเป็น 2 แบบ คือ อาการซึมเศร้าที่เป็นมาก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ และที่เกิดในช่วงที่เข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัยพบมากถึง 10-20 % ของประชากร และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง อยู่ตัวคนเดียว หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จะมีความเสี่ยงกับภาวะนี้มากขึ้น

ซึ่งอาการเศร้าจะมีตั้งแต่เศร้าเล็กน้อย ไปถึงรุนแรงมากจนมีอาการจิตเวชร่วมด้วย แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือกลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้าแต่ไม่แสดงอาการ หากมีการถูกปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

ดังนั้นคนในครอบครัวต้องคอยสังเกตอาการ รู้ถึงสาเหตุและทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มาก เพื่อให้คนที่เรารักผ่านพ้นโรคนี้ไปให้ได้

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มีสาเหตุมาจาก พันธุกรรม ลักษณะนิสัย รวมกันสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดโรคซึมเศร้า แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  1. ด้านร่างกาย
    ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เกิดจากการสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้อารมณ๋ผิดปกติเสียสมดุล ซึ่งจะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย หรือการเจ็บป่วย แม้จะไม่ส่งกระทบต่อสมองโดยตรง แต่ก็ทำให้รู้สึกเจ็บปวด เครียด และเป็นกังวลได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ เบาหวาน และโรคมะเร็ง
  2. ด้านจิตใจ
    เมื่อลูกหลานต้องออกไปทำงาน ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว จนทำให้ผู้สูงอายุเหงา รู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ก็มักจะทำใจไม่ได้ เกิดความรู้สึกไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอใคร ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายของการเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า สำหรับผู้สูงอายุบางคนที่คนในครอบครัวไม่สนใจ ไม่มีสังคม หรือเพื่อนคุย ก็ส่งผลให้สามารถป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้

7 อาการของ “โรคซึมเศร้า” ที่ลูกหลานพึงให้การสังเกต

สิ่งที่ลูกหลานหรือแม้แต่คนทั่วไปควรทาบคือ “ความเครียด” ที่เป็นตัวสำคัญ และมีผลต่อทั้งอารมณ์ จิตใจ ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเครียดมากๆ จนไม่สามารถจัดการได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคซึมเศร้า หากพบว่าผู้สูงอายุหรือ คุณพ่อคุณแม่มีอาการดังที่จะกล่าวนี้นานเกิน 2 อาทิตย์ อาจเข้าข่ายป่วยโรคดังกล่าว จึงควรรีบพาไปพบแพทย์ สำหรับอาการของโรคซึมเศร้าที่ลูกหลานพึงให้การสังเกตนั้นมีด้วยกันตั้งแต่

  1. นิ่ง พูดคุยน้อย เมื่อผู้สูงอายุนิ่ง ไม่ค่อยตอบสนอง ส่งผลให้ผู้ดูแลไม่ทราบว่าจะพูดอย่างไรให้ถูกใจ บางครอบครัวจึงปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง ซึ่งไม่ถูกต้อง คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล ควรให้ความรักแก่ผู้สูงอายุ หมั่นสังเกตและใส่ใจความรู้สึก อารมณ์และความคิด พร้อมทั้งเปิดโอกาสผู้สูงอายุได้พูดในสิ่งที่ต้องการ หรือชวนพูดคุยเรื่องที่ผู้สูงอายุสนใจ เช่นคุยถึงเรื่องราวในอดีตที่มีความสุข โดยแนะนำให้ผู้ดูแลควรเป็นฝ่ายตั้งคำถามก่อน และไม่ควรขัดจังหวะ หรือตัดบท
  2. รับประทานอาหารน้อยลง หรือแทบไม่กินเลย เมื่อผู้สูงอายุเริ่มรับประทานอาหารได้น้อยลง น้ำหนักลดลงอย่างมากโดยที่ไม่ได้ตั้งใจอดอาหาร มีความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร ลูกหลานควรปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้น่ารับประทานขึ้น โดยเลือกเมนูอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายและไม่กระทบต่อโรคประจำตัวของผู้สูงอายุ
  3. ไม่อยากทำอะไร เฉื่อยชา ความสนใจสิ่งต่างๆ ลดลงมาก หรือไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไรเกือบทุกวัน เบื่อหน่ายมาก อะไรที่เคยชอบก็ไม่อยากทำ รวมทั้งไม่สนใจที่จะดูแลตัวเอง จากที่เคยเป็นคนใส่ใจดูแลตนเองมาก แต่ตอนนี้กลับไม่สนใจการแต่งตัว ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง แม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น การแต่งตัว เป็นต้น หากผู้สูงอายุในบ้านมีอาการลักษณะนี้ แนะนำให้ผู้ดูแลพยายามกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมง่ายๆ ให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น อีกทั้งควรกระตุ้นให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพของต้นเอง เช่น การแปรงฟัน ทำความสะอาดช่องปาก พยายามกระตุ้นให้เคลื่อนไหวร่างกายออกกำลังกายพอสมควร หรือหากมีปัญหาด้านการมองเห็น ควรพาไปพบจักษุแพทย์ตรวจวัดสายตาและใส่แว่นตา หรือรักษาเพื่อลดอุบัติเหตุจากการมองไม่เห็น
  4. ชอบนอนเฉยๆ ชวนไปไหนก็ไม่ค่อยอยากไป ในกรณีผู้สูงอายุชอบเก็บตัว และแยกตัวจากผู้อื่น ลูกหลานชวนไปไหนก็ไม่อยากไป แนะนำให้ลูกหลานพยายามเข้าหา ควรหากิจกรรมทำ โดยควรเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ในครอบครัว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้จะทำให้ผู้สูงอายุปลีกตัวมากขึ้น อารมณ์จะยิ่งเลวร้ายลง
  5. นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไปเกือบทุกวัน ปัญหาการนอน และหากตอนกลางคืนไม่หลับ อาจชวนทำกิจกรรมเบาๆ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือฟังธรรมมะ หากนอนไม่หลับติดต่อกัน 3-4 วันขึ้นไป ควรพบแพทย์ หรือหากผู้สูงอายุชแบนอนกลางวัน ถ้าง่วงมากให้นอนได้ระหว่าง 12:00-14:00 น. แล้วปลุก เพราะถ้านอนกลางวันมากเกินไป ตอนกลางคืนย่อมมีปัญหาการนอน
  6. อารมณ์แปรปรวนหงุดหงิด ฉุนเฉียว หากผู้สูงอายุมีอาการหงุดหงิด โมโหง่าย หรือขี้บ่น ลูกหลานหรือผู้ดูแลไม่ควรโวยวายหรือโต้เถียง เพราะยิ่งโต้งเถียงจะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุเกิดอารมณ์ขุ่นมัวขึ้น และตัวผู้ดูแลก็จะอารมณ์เสียตามไปด้วย สิ่งที่ควรปฏิบัติคือการ ต้องรับฟังอย่างเข้าใจ ปล่อยให้ผู้สูงอายุระบายความรู้สึกออกมาก่อน และหาวิธีเพื่อลดความหงุดหงิดนั้นๆ รวมถึงพยายามเบนความสนใจจากเรื่องที่ทำให้ผู้สูงอายุหงุดหงิด อาจจะจับมือและนวดเบาๆ ที่หลังมือของผู้สูงอายุระหว่างคุย จะช่วยลดอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวได้
  7. บ่นว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากกว่าปกติ เป็นเกือบทุกวันเบื่อตัวเองมาก รู้สึกว่าตนไร้ค่า มีความคิดอยากตายหรืออยากทำร้ายตัวเอง เมื่อผู้สูงอายุมีอาการเหล่านี้ ผู้ดูแลควรสังเกตความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจบ่งบอกว่ามีความคิดที่จะทำร้ายตนเอง และเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดพยายามไม่ให้คลาดสายตา และพยายามหาคุณค่าในตัวผู้สูงอายุและบอกให้ผู้สูงอายุรับทราบ รับฟังปัญหาโดยต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ตำหนิความคิดของผู้ป่วย อีกทั้งต้องไม่พูดว่าเรื่องของผู้ป่วยเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อช่วยกันวางแผนการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้องเหมาะสม

วิธีรักษาภาวะซึมเศร้า

  1. รักษาทางจิตใจ
    การรักษาวิธีนี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้สูงอายุ โดยการให้เข้าพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยให้คำปรึกษา บำบัดจิต ปรับวิธีคิด และปรับทัศนคติทางลบให้ดีขึ้น จะช่วยเปลี่ยนมุมมอง และเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่เข้ามามากขึ้น
  2. การรักษาโดยการใช้ยา
    การรักษาวิธีนี้จะทำให้อาการดีขึ้นเร็ว แต่อาจจะส่งผลข้างเคียงด้านอื่นๆ ซึ่งยารักษาโรคซึมเศร้าจะมีหลายกลุ่ม ซึ่งการใช้ยาต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง หากซื้อยามาทานเองอาจไม่เหมาะกับร่างกายผู้สูงอายุ ทำให้ได้รับอันตรายจากการใช้ยาได้

วิธีปฏิบัติต่อผู้สูงอายุโรคซึมเศร้า

เมื่อรักษาอาการซึมเศร้าหายแล้ว ผู้ป่วยอาจกลับมาเป็นอีกได้ ซึ่งอัตรากลับมาเป็นใหม่ของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุนั้นมีมากพอสมควร หากญาติหรือผู้ดูแล สามารถควบคุมปัจจัยกระตุ้นได้ คนไข้ก็จะไม่มีอาการกำเริบมากนัก ผู้ใกล้ชิดควรดูแลผู้ป่วยดังนี้

  • ให้ความเอาใจใส่ ดูแล และเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วย โดยการคุยกันและฟังกันให้มากขึ้น
  • เก็บของมีคม อาวุธ หรือสารพิษในบ้าน ให้ไกลมือผู้ป่วย
  • ไม่ทิ้งผู้ป่วยไว้ตามลำพัง ควรมีคนคอยดูแลอยู่เสมอ
  • ไม่ควรปรับลดหรือเพิ่มยาเอง
  • มาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ



แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาบสมิติเวช
– โรงพยาบาลเปาโล
– โรงพยาบาลบางปะกอก
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี