ฮ่องเต้ซินโดรม (Little Emperor Syndrome) โรคยอดฮิตของเด็กรุ่นใหม่

เลี้ยงลูกตามใจ ระวังกลายเป็น ‘โรคฮ่องเต้ซินโดรม’ เพราะรักลูกมาก อยากให้เขาได้สิ่งที่ดีที่สุด แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่า นี่อาจกลายเป็นกับดักที่เผลอ “เลี้ยงลูกตามใจ” จนกลายเป็นโรค ‘ฮ่องเต้ซินโดรม’ ซึ่งพบมากในเด็กเล็กเจนนี้

ฮ่องเต้ซินโดรม (Little Emperor Syndrome) คือ

เป็นคำเรียกที่มีจุดเริ่มต้นจากชาวจีนในยุคมีลูกยาก พวกเขาทุ่มเททุกอย่างให้ลูกอย่างเต็มที่คล้ายกับการปรนนิบัติฮ่องเต้ จักรพรรดิจีนโบราณ แต่ในเชิงจิตวิทยา สิ่งนี้คือพฤติกรรมผิดปกติของเด็กที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลตอบสนองอย่างรวดเร็ว และคอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา โดยไม่เคยอดทนรอหรือออกปากขอ พ่อแม่ต้องตามใจลูก พะเน้าพะนอลูก พยายามหาสิ่งต่างๆ มาให้ลูกจนเกินความจำเป็น เพราะเข้าใจว่าการตอบสนองอย่างรวดเร็วเท่ากับการแสดงความรัก

กลุ่มเสี่ยง
เด็กที่ถูกเลี้ยงโดยผู้ปกครองที่ตอบสนองความต้องการของเด็กตลอดเวลา เพราะเข้าใจว่า “การตอบสนองเร็ว คือ ความสุขของลูก” ผู้ปกครองที่ไม่เคยให้เด็กได้พบกับความผิดหวังใดเลยผู้ปกครองที่ไม่เคยทำโทษ แม้ว่าเด็กจะทำผิดหรือทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

ฮ่องเต้ซินโดรมส่งผลเสียอย่างไร

เบื้องต้นการเลี้ยงลูกด้วยวิธีการนี้อาจไม่ส่งผลให้เห็นชัดเจนนัก เด็ก ๆ อาจดูน่ารัก ไม่ดื้อ ไม่ซน ไม่งอแงในสายตาพ่อแม่ แต่ความจริงแล้ว สิ่งนี้กำลังสร้างบุคลิกของคนเจนหนึ่งขึ้นมาในอนาคต หรือที่นักวิชาการเรียกกันว่า “สตรอว์เบอร์รี่เจนเนอเรชั่น” เด็กที่ดูภายนอกสวยงามแต่เปราะบาง เพราะเต็มไปด้วยปัญหาพฤติกรรมมากมาย ตัวอย่างเช่น

  • อาแต่ใจ ไม่ทำตามกฎกติกาของสังคมหรือข้อจำกัดใด ๆ สนใจแต่ความต้องการของตัวเองเท่านั้น
  • ขาดการคิดไตร่ตรอง ลูกจะเติบโตโดยไม่เข้าใจเหตุและผลของสิ่งต่าง ๆ ทำให้เสี่ยงต่อการทำเรื่องแย่ ๆ ได้ง่าย
  • ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำให้ลูกปรับตัวได้ยาก รักสบาย ไม่สามารถข้ามผ่านอุปสรรคปัญหาในชีวิตได้ เมื่อโดนขัดใจจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว โมโหรุนแรง
  • จัดการอารมณ์ไม่ได้ เมื่อรู้สึกผิดหวัง โกรธ หรือเสียใจ มักแสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อตัวเองและผู้อื่น
  • เด็กไม่ได้เรียนรู้ว่าต้องอยู่ในกติกาและข้อจำกัดใด ๆ สนใจแต่ความต้องการของตนเอง
  • เด็กเติบโตขึ้นโดยไม่มีความเข้าใจเหตุและผลของสิ่งต่าง ๆ
  • เด็กขาดความเคารพในตัวผู้อื่นที่คิดเห็นไม่ตรงกับตนเอง
  • เมื่อรู้สึกผิดหวังจะมีอาการเครียด โกรธ โมโหหรืออาจแสดงปฏิกิริยารุนแรงที่อาจรุกล้ำสิทธิของผู้อื่น เพราะไม่คุ้นเคยกับการยอมรับความต้องการของผู้อื่น

เลี้ยงลูกแบบไหน ไม่ให้เป็นฮ่องเต้ซินโดรม

ถ้ารักลูกมากไปกลายเป็นทำร้ายลูก คุณพ่อคุณแม่ควรเลี้ยงลูกอย่างไรให้เหมาะสม และห่างไกลจากภาวะฮ่องเต้ซินโดรม ขอแนะนำ 3 วิธีหลัก ๆ ที่ทำตามได้ดังต่อไปนี้

1. เล่นกับลูก มากกว่าซื้อของให้ลูกเล่น หรือใช้มือถือเลี้ยงลูก เวลาเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่มอบให้ลูกได้โดยไม่ต้อง ลงทุนใด ๆ สิ่งนี้ช่วยสานสายใยสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ช่วงเวลานี้ลูกจะคอยดูสิ่งที่พ่อแม่คิด ลงมือทำ พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน ซึ่งช่วยสร้างความไว้ใจและพฤติกรรมเชิงบวกที่เหมาะสมกับวัย

2. วางกฎกติกากับลูก เพราะนอกบ้านมีกฎกติกาของสังคมที่ลูกต้องเคารพและปฏิบัติตาม แต่ลูกจะทำได้หรือไม่ต้องเริ่มต้นจากที่บ้าน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องวางกฎง่าย ๆ เช่น สิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ฝึกฝนความมีระเบียบวินัย และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพื่อช่วยให้ลูกปรับตัวเข้ากับสังคมได้

3. อย่าใช้รางวัลต่อรองความสำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ควรให้รางวัลกับความพยายามของลูก แม้จะยังทำสิ่งนั้นไม่สำเร็จ แต่นี่คือกำลังใจที่ผลักให้ลูกพยายามและมุ่งมั่นต่อไป ทั้งนี้รางวัลไม่ใช่สิ่งของเท่านั้น คำชมง่าย ๆ เช่น ลูกทำดีแล้ว เก่งมากแล้ว ก็ถือเป็นรางวัลที่ดีได้

จะเห็นได้ว่าภาวะฮ่องเต้ซินโดรมไม่ได้เกิดจากเด็กโดยตรง แต่ผู้ปกครองต่างหากที่เป็นผู้ชี้ชะตาว่าลูกจะเป็นฮ่องเต้ที่ยอดแย่หรือเป็นสามัญชนที่ยอดเยี่ยม เมื่อรู้ต้นตอปัญหาแล้วผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นแนะนำว่าต้องเริ่มปรับทัศนคติของคนทั้งครอบครัวก่อน

“ถ้าอยากแก้ไข ทุกคนต้องไปในทิศทางเดียวกัน พูดง่ายๆ หน้าที่ของพ่อแม่คือต้องให้ลูกเจอปัญหาและอุปสรรคบ้าง แล้วเชียร์เขาให้ชนะอุปสรรค คอยดูอยู่ห่างๆ ไม่ใช่เข้าไปครอบงำ แล้วบ้านทั้งบ้านต้องมีวินัยแบบเดียวกัน ไม่ใช่คนหนึ่งเลี้ยงแบบใจดี อีกคนเลี้ยงแบบเข้มข้น”



แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– jia1669.com
– wiki.th-th.nina.az
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี