นาพรอกเซน ยานีมีใช้ชื่อสามัญว่า นาพรอกเซน (naproxen) อยู่ในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์
ยานี้คือยาอะไร
Naproxen (นาพรอกเซน) คือ ยากลุ่มเอ็นเสด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory: NSAIDs) มีกลไกการออกฤทธิ์ในการลดฮอร์โมนที่เป็นสาเหตุของการอักเสบและอาการเจ็บปวดในร่างกาย โดยยานาพรอกเซนจะนำมาใช้ในการรักษาอาการเจ็บปวด บวม และอักเสบที่มาจากสาเหตุต่าง ๆ
รูปแบบของยา
ยานี้มีจำหน่ายทั้งในรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำสำหรับรับประทาน โดยยาเม็ดยังแบ่งเป็นแบบยาเม็ดเคลือบเพื่อป้องกันการกัดกระเพาะ และยาเม็ดแบบออกฤทธิ์นานที่สามารถรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอ
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Naproxen
ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสร้างโปรสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และอาการปวด
ยานี้ใช้ เพื่ออะไร
- เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบ โรครูมาติก โรคข้อเสื่อมกระดูกสันหลังอักเสบ ข้อยึดติด
- เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบ รูมาติกในเด็ก (อายุ 2 ปีขึ้นไป)
- เพื่อรักษาอาการปวดในกล้ามเนื้อ กระดูก เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ และข้อต่อ
- เพื่อรักษาอาการปวดประจำเดือน
- เพื่อรักษาโรคเกาต์เฉียบพลัน
ปริมาณการใช้ยา Naproxen
ปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับอายุ โรคประจำตัว ความรุนแรงของโรค ภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ รวมไปถึงปฏิกิริยาตอบสนองต่อการใช้ยาครั้งแรก
ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhoea) และโรคระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูกชนิดเฉียบพลัน
- ผู้ใหญ่ รับประทาน ขนาดเริ่มต้น 500 มิลลิกรัมแล้วตามด้วย 250 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุด วันแรกไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม และวันต่อมาไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม
- ผู้สูงอายุ ปริมาณการใช้ยาอาจลดลงจากข้างต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
โรครูมาติก
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.5-1 กรัม ต่อวัน รับประทาน 1 ครั้ง หรือแบ่งเป็น 2 ครั้ง
- ผู้สูงอายุ: ปริมาณการใช้ยาอาจลดลงจากข้างต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก (Juvenile idiopathic arthritis)
เด็กอายุ 5 ปี ขึ้นไป: รับประทาน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ต่อวัน แบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง
โรคเก๊าท์ชนิดเฉียบพลัน
- ผู้ใหญ่: รับประทาน ขนาดเริ่มต้น 750 มิลลิกรัม แล้วตามด้วย 250 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง
- ผู้สูงอายุ: ปริมาณการใช้ยาอาจลดลงจากข้างต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- *ทั้งนี้ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
การใช้ยา Naproxen
- ควรใช้ยาตามฉลากหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยานี้ในปริมาณที่มากกว่าหรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ และควรใช้ปริมาณน้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพในการรักษา
- ควรกลืนยาลงไปทั้งหมด ไม่ควรบด เคี้ยว หรือหักยา
- ควรเขย่าขวดยานาพรอกเซนชนิดน้ำก่อนการวัดปริมาณในการใช้ วัดปริมาณยาด้วยหลอดดูดยาที่เตรียมมาให้ หรือช้อนสำหรับวัดปริมาณยาโดยเฉพาะหรือถ้วยยา แต่หากไม่มีอุปกรณ์สำหรับวัดปริมาณยา สามารถสอบถามได้จากเภสัชกร
- หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนยี่ห้อหรือรูปแบบของการใช้ยานาพรอกเซน ปริมาณการใช้ยาก็อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งผู้ป่วยสามารถสอบถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ยาได้กับแพทย์และเภสัชกร
- สำหรับการใช้ยานาพรอกเซนในเด็ก หากเด็กมีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เนื่องจากปริมาณการใช้ยานาพรอกเซนในเด็กจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว
- หากมีการใช้ยานาพรอกเซนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- การใช้ยานี้สามารถทำให้การทดสอบทางการแพทย์บางชนิดให้ผลที่ไม่ปกติ ดังนั้น ควรแจ้งให้แพทย์ที่ให้การรักษาทราบทุกครั้งว่าผู้ป่วยกำลังใช้ยานี้
- ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานยาได้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในมื้อถัดไป ก็ให้ข้ามไปรับประทานยาในมื้อนั้น โดยที่ไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่กำลังใช้ยา เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร
- ควรปรึกษาแพทย์หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยานาพรอกเซนร่วมกับยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาแอสไพรินลดลงได้ และยังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดแผลหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร
- หากจำเป็นต้องใช้ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ หรือยาแก้ปวดที่วางขายตามร้านขายยาทั่วไป ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่ากำลังใช้ยานาพรอกเซนอยู่ เนื่องจากยาเหล่านั้น มักมียาแอสไพรินเป็นส่วนประกอบ หรือตัวยาอื่น ๆ ที่มีความคล้ายกับยานาพรอกเซน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับยามากเกินไป ดังนั้นควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียดว่ามียาชนิดใดเป็นส่วนประกอบบ้าง
- ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาลดกรด (Antacid) และควรใช้ยาลดกรดชนิดที่แพทย์แนะนำเท่านั้น เนื่องจากยาลดกรดบางชนิดอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยานาพรอกเซนได้ยาก
ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากความร้อน แสงแดด ความชื้น และควรปิดบรรจุภัณฑ์ให้สนิทเมื่อใช้เสร็จแล้ว
คำเตือนในการใช้ยา Naproxen
- แจ้งให้แพทย์ หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา หากคุณเคยมีประวัติแพ้ยาในกลุ่ม NSAIDs มาก่อน
- ยานี้ยังอาจทำให้เกิดแผลและมีเลือดออกภายในระบบทางเดินอาหารได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งจะเสี่ยงได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยามากกว่า ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จึงควรใช้ยาในขนาดที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- การใช้ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและโรคเส้นเลือดสมองได้ และความเสี่ยงนี้จะมีมากขึ้นหากคุณมีประวัติ หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจ รวมถึงการใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน และใช้ในปริมาณมาก
- หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดหรือการอาบแดดในระหว่างที่รับประทานยานี้ เนื่องจากตัวยามีผลข้างเคียงทำให้ผิวหนังไวต่อแสงและเกิดผิวไหม้ง่ายกว่าปกติ
- ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ขณะที่ใช้ยานี้ เนื่องจากหากใช้พร้อมกันจะเพิ่มโอกาสการเกิดแผลภายในกระเพาะอาหารหรือทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหารได้
- หากคุณกำลังรับประทานยานี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการผ่าตัด รวมถึงการรักษาทางทันตกรรม
- หากคุณมีภาวะต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา ซึ่งได้แก่ สารน้ำคั่งในร่างกาย ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต ซีด หอบหืด จมูกบวม มีแผลในกระเพาะอาหาร และเป็นโรคลำไส้อักเสบ
- ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
ห้ามใช้ยานี้เมื่อไหร่
- เคยแพ้ยานี้หรือแพ้สวนประกอบในตำรับ
- มีอาการหอบหืดลมพิษ หรือโพรงจมูกอักเสบแบบเฉียบพลันจากการแพ้ยากลุ่มแอสไพรินหรือกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์
- เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
- มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้หรือมีแผลทะลุ ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไตอย่างรุนแรง ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง
- สงสยว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก หรือเกล็ดเลือดผิดปกติจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ฮีโมฟีเลีย
- เป็นหญิงมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 6 เดือน
ผลข้างเคียงของการใช้ยา Naproxen
ผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้จะพบได้บ่อยขึ้นเมื่อคุณรับประทานยาเป็นเวลานาน โดยที่พบบ่อยที่สุดนั้นเป็นอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องผูก แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง คลื่นไส้ ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ประกอบด้วย
- ปวดหัว
- คัน
- เกิดรอยช้ำตามผิวหนัง
- มีผื่นขึ้น
- ง่วงนอน
- ได้ยินเสียงในหู
ผลข้างเคียงจากการใช้ยานาพรอกเซนที่พบบ่อย ได้แก่ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม บวมที่มือและเท้า ฟกช้ำ คัน ผื่นขึ้น เหงื่อออก หรือหูอื้อและมีเสียงดังในหู เป็นต้น
นอกจากนั้นอาจมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากผู้ป่วยพบว่ามีความผิดปกติหรือความสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรแจ้งหรือปรึกษาแพทย์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– HDMall
– เว็บพบแพทย์
– เอกสารกำกับยา
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM