“โรคกระเพาะ” และ “โรคกรดไหลย้อน” เป็นสองโรคเรื้อรังที่สร้างความสับสนให้กับผู้ป่วยไม่น้อย ด้วยอาการที่คล้ายคลึงกันและตำแหน่งของอาการที่ใกล้เคียงกัน ทำให้บ่อยครั้งผู้ป่วยคิดว่า…นี่คือโรคเดียวกัน!!! เรามาเช็คกันหน่อยดีกว่า ว่าแท้จริงแล้วสองโรคนี้มีอาการแตกต่างกันยังไงบ้าง?? ก่อนที่อาการจะลุกลามจนร้ายแรงกว่าที่คิด
สังเกตให้ดี…สองโรคนี้อาการต่างกัน
โรคกระเพาะอาหาร ตำแหน่งการแสดงอาการ
- เกิดแผลขึ้นในเยื่อบุทางเดินอาหาร ตรงส่วนที่สัมผัสกับน้ำย่อย และพบการเกิดรอยโรคบ่อยที่สุดในกระเพาะอาหารส่วนปลาย
- ปวด จุก เสียดและแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่
- มีอาการปวดท้องก่อนและหลังอาหาร รวมทั้งปวดท้องตอนท้องว่างหรือหิว
- รู้สึกท้องอืด มีลมในท้อง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- มักเป็นๆ หายๆ โดยจะสัมพันธ์กับมื้ออาหาร คืออาจปวดก่อนหรือหลังกินอาหาร
โรคกรดไหลย้อน ตำแหน่งการแสดงอาการ
- กล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอดอาหาร มีการคลายตัวผิดปกติ ทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร
- แสบท้องบริเวณลิ้นปี่ แสบร้อนบริเวณทรวงอกหรือคอ
- กลืนลำบาก กลืนเจ็บ คลื่นไส้ อาเจียน
- อาการเรอเปรี้ยวหรือมีรสขมในปากและคอ ไอเรื้อรัง เสียงแหบ
- อาการเจ็บแน่นหน้าอก คล้ายโรคหัวใจ หอบหืด ไอเรื้อรัง กล่องเสียงอักเสบ
- โรคกรดไหลย้อน มักจะเกิดอาการหลังมื้ออาหาร 30-60 นาที
ถึงจะแตกต่างแต่อันตรายถึงขั้นเป็น “โรคมะเร็ง” ได้เหมือนกัน
โรคกระเพาะนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
หากอาการปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่…เริ่มทวีความรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถนอนหลับได้! มีอาการอาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด กลืนอาหารลำบาก น้ำหนักลด ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีก้อนในท้อง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
โรคกรดไหลย้อนนำไปสู่โรคมะเร็งหลอดอาหาร
หากอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก…เพิ่มความถี่มากกว่าสองครั้งต่อสัปดาห์ รวมไปถึงอาการกลืนอาหารลำบาก หรือกลืนแล้วรู้สึกว่ามีก้อนในลำคอ เจ็บหน้าอก และยาลดกรด..ไม่สามารถใช้บรรเทาอาการได้อีกต่อไป นี่คือสัญญาณบ่งบอกว่าคุณควรไปพบแพทย์ด่วน
ลดความเสี่ยงโรคด้วยการปรับพฤติกรรม
- หลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม กระเทียม หัวหอม เป็นต้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการทานอาหารมื้อใหญ่ ควรแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้ง
- หลีกเลี่ยงการนอนราบทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรรออย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง หรือหากนอนควรนอนหนุนหมอนสูง และไม่ควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารเสร็จทันที
- กินอาหารให้เป็นเวลา ไม่ปล่อยให้ท้องว่างและกินในปริมาณที่พอดี
- พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงความเครียด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
โรคกรดไหลย้อนจะเกิดขึ้นเมื่อคุณป่วยเป็นโรคกระเพาะมาอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตจึงไม่เพียงแค่รักษาอาการกระเพาะอักเสบ แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกรดไหลย้อนได้อีกด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลนครธน
– โรงพยาบาลพญาไท
– โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM