โรคข้อเสื่อม(Osteoarthritis) สาเหตุ อาการ และการรักรักษา

โรคข้อเสื่อมเป็นโรค ที่พบได้บ่อยที่สุด ในบรรดาโรคข้อทั้งหลาย มักพบได้ในคนมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนที่บุปลายกระดูกข้อ เป็นเหตุให้ผิวของกระดูกอ่อนเปลี่ยนสภาพจากผิวเรียบมันกลายเป็นผิวขรุขระ เป็นผลให้ข้อมีการติดขัดเวลาเคลื่อนไหวของ เกิดความเจ็บปวด

โรคข้อเสื่อมจะเกิดกับส่วนใดของร่างกายได้บ้างข้อเสื่อมเกิดได้เกือบทุกแห่ง มักพบกับข้อใหญ่ ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวมากหรือข้อที่รับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่าข้อสะโพกข้อเท้าข้อกระดูกสันหลังและกระดูกคอ

ปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับการเป็นโรคนี้ ได้แก่

การบาดเจ็บ, อายุที่มากขึ้น, คนอ้วน น้ำหนักเกิน น้ำหนักที่มาก จะทำให้ข้อรับน้ำหนักมาก ทำให้ข้อนั้นๆ เสื่อมเร็วขึ้น, ผู้ที่มีโรคกระดูกพรุน, ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินเป็นประจำ, เพศหญิงมีโอกาสเกิดข้อเสื่อมได้มากกว่าเพศชาย เนื่องจากความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อน้อยกว่าเพศชาย, กรรมพันธุ์, ยาหรือสารเคมีบางอย่าง

อาการ

อาการจะค่อยๆเริ่มเป็นทีละน้อย มีอาการปวดเมื่อยเวลาใช้งานข้อ บางครั้งมีเสียงกรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหว อาจจะมีอาการข้อตึงหรือข้อติดเวลาพักการใช้ข้อนานๆ เมื่อเป็นมากขึ้น กระดูกผิวข้อสึกหรอมากขึ้น จะทำให้ปวดมากเวลาใช้งานข้อ อาจจะพบว่ามีการผิดรูปของข้อ หรือมีการบวมอักเสบ มีน้ำในข้อ และอาจไม่สามารถใช้งานข้อนั้นๆได้

การรักษา

การเสื่อมของข้อเป็นกลไกที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติซึ่งอาจไม่ได้ต่างอะไรจากการที่เรามีผิวหนังที่เหี่ยวย่นเมื่ออายุมากขึ้นจึงกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มีอาการที่ผิดไปจากปกติ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำการรักษาใด ๆแต่สิ่งที่ควรทำก็คือ การบำรุงรักษาข้อที่เสื่อมให้สามารถอยู่กับตัวเราได้อย่างไม่สร้างปัญหาให้ยาวนานที่สุด การรักษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีจุดหมายคือ มุ่งลดอาการปวดและอาการอักเสบ ในขณะเดียวกันก็พยายามทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเป็นไปตามปกติ โดยป้องกันหรือแก้ไขการผิดรูปร่างของข้อ ทำให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันหรือทำการงานได้ตามปกติ

วิธีการรักษา

ขึ้นกับอายุและความรุนแรงของโรค เช่น การรักษาด้วยยาต้านการอักเสบยาเสริมกระดูกอ่อน การฉีดน้ำไขข้อเทียม การทำกายภาพบำบัด การรักษาด้วยการผ่าตัดการส่องกล้องล้างผิวข้อ การผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกอ่อน การผ่าตัดแก้ไขแนวรับน้ำหนักข้อการผ่าตัดใส่ข้อเทียม

การปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง สำหรับโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. ต้องลดน้ำหนักตัว เพราะการลดน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมจะลดแรง
    กระทำที่เข่าได้ถึง 3 กิโลกรัม
  2. ท่านั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้สูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าจะ
    วางราบกับพื้นพอดี ไม่ควรนั่งพับเพียบ หลีกเลี่ยงการ
    นั่งขัดสมาธิ การนั่งคุกเข่า นั่งยอง หรือนั่งราบกับพื้นเนื่องจากจะ
    ทำให้ผิวเข่าเสียดสีกันมากขึ้น
  3. เวลาเข้าห้องน้ำ ควรนั่งถ่ายบนโถนั่ง
  4. ควรนอนบนเตียง ไม่ควรนอนราบกับพื้น เพราะต้องงอเข่าเวลา
    จะนอนหรือจะลุกขึ้น
  5. หลีกเลี่ยงการขึ้น-ลงบันได
  6. หลีกเลี่ยงการยืน หรือการนั่งในท่าเดียวนาน ๆ
  7. การเดิน ควรเดินบนพื้นราบ ใส่รองเท้าส้นเตี้ย พื้นรองเท้านุ่ม
    ขนาดพอเหมาะ
  8. ควรใช้ไม้เท้าเมื่อยืนหรือเดิน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดเข่ามาก
    หรือมีข้อเข่าโก่งผิดรูป
  9. บริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่าให้แข็งแรง เพื่อช่วยให้การ
    เคลื่อนไหวของข้อเข่าดีขึ้น และสามารถทรงตัวได้ดีเวลายืนหรือ
    เดิน

ท่าบริหารเข่า

การบริหารกล้ามเนื้อต้นขา ให้นั่งบนเก้าอี้ หลังพิงพนัก ยกเท้าขึ้นมาและเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาโดยการกระดกข้อเท้า ให้นับ 1-10 และ ทำข้างละ 10 ครั้ง ทำวันละ 3 เวลา ถ้าหากแข็งแรงขึ้นอาจจะถ่วงน้ำหนักที่ปลายเท้า


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– med.swu.ac.th
– เว็บพบแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM




แชร์

ยังไม่มีบัญชี