ปวดท้องน้อย (Pelvic Pain) เป็นอาการปวดช่องท้องด้านล่างบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจเกิดจากการติดเชื้อ การอักเสบ หรือการบาดเจ็บที่อวัยวะภายในระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ หรืออาจเกิดการบาดเจ็บบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกราน เช่น ไส้เลื่อน ไส้ติ่งอักเสบ หนองใน กระเพาะปัสสาวะหรือไตติดเชื้อ กระดูกเชิงกรานแตกหัก การอักเสบของเส้นประสาท โดยอาการปวดท้องน้อยมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และอาจเป็นอาการป่วยเกี่ยวกับอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ เช่น ปวดประจำเดือน มีซีสต์ในรังไข่ ท้องนอกมดลูก หรือแท้งบุตร เป็นต้น
อาการปวดท้องน้อย
ผู้ที่ปวดท้องน้อยอาจมีอาการปวดเสียดหรือปวดตื้อ ๆ ปวดแปลบ ๆ หรือปวดเพียงเล็กน้อย โดยอาจมีอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง ซึ่งลักษณะของอาการขึ้นอยู่กับสาเหตุของการป่วย หากเกิดอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงกะทันหัน ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ หรืออาการที่เกิดขึ้นรบกวนชีวิตประจำวัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา
โดยอาการบ่งชี้ที่เป็นสัญญาณสำคัญของการปวดท้องน้อย หรืออาจเกิดขึ้นร่วมกับการปวดท้องน้อย ได้แก่
- ปวดประจำเดือน หรือปวดเกร็งในขณะมีประจำเดือนและอาการแย่ลงเรื่อย ๆ
- มีเลือด หยดเลือด หรือตกขาวไหลออกจากช่องคลอด
- เจ็บปวดในขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะลำบาก ติดขัด
- ท้องผูกหรือท้องร่วง
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือเรอ
- มีเลือดออกในขณะขับถ่าย
- เจ็บปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีไข้ หรือหนาวสั่น
- ปวดบริเวณสะโพก หรือขาหนีบ
สาเหตุของอาการปวดท้องน้อย
การปวดท้องน้อยในเพศหญิง สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะหรือการเจ็บป่วยในระบบสืบพันธุ์ เช่น
- การตกไข่ก่อนมีประจำเดือน
- การปวดเกร็งขณะมีประจำเดือน
- ภาวะอักเสบภายในอุ้งเชิงกราน
- การท้องนอกมดลูก
- การแท้งบุตร
- มีซีสต์ในรังไข่ หรือรังไข่มีความผิดปกติ
- ท่อนำไข่อักเสบ
- มีเนื้องอกในมดลูก
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งปากมดลูก
การรักษาอาการปวดท้องน้อย
อาการปวดท้องน้อยสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น วิธีการรักษาจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการปวด เช่น
ยาแก้ปวด
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน หากเป็นอาการปวดท้องน้อยก่อนมีประจำเดือน หรือในขณะมีประจำเดือน แต่หากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาหาสาเหตุที่แท้จริง โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ
ยาปฏิชีวนะ
- ในผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจวินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา เช่น ออฟลอกซาซิน (Ofloxacin) เมโทรนิดาโซลMetronidazole) เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) และด็อกซี่ไซคลีน (Doxycycline) และยาปฏิชีวนะตัวอื่น ๆ เพื่อรักษาผู้ที่ป่วยด้วยภาวะอักเสบภายในอุ้งเชิงกราน โรคหนองในแท้ และหนองในเทียม เป็นต้น
ยาต้านไวรัส
- แพทย์จะจ่ายยาต้านไวรัสให้แก่ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคเริม ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัส
การผ่าตัด
- บางกรณี แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษาด้วยการสร้างช่องขนาดเล็กบริเวณหน้าท้องแล้วผ่าตัดผ่านกล้อง หรืออาจผ่าตัดด้วยการเปิดหน้าท้อง เช่น การผ่าตัดนำไส้ติ่งที่อักเสบจนทำให้เกิดความเจ็บปวดออกมา การผ่าตัดผู้ที่มีภาวะท้องนอกมดลูกเพื่อนำเนื้อเยื่อที่ฝังตัวในบริเวณอื่นภายในช่องท้องออกมา หรือการผ่าตัดนำก้อนเนื้องอกที่อยู่ภายในอวัยวะออกมา
การป้องกันอาการปวดท้องน้อย
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ใช้สารหล่อลื่นเพื่อป้องกันการเสียดสีจนถุงยางอนามัยฉีกขาด หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากไม่ถึงเวลาอันควรที่จะรับผิดชอบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายในช่องคลอดและอุ้งเชิงกราน
อย่างไรก็ดี การป้องกันการเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยได้ อาจทำได้โดยการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ด้วยการ
- ควบคุมอาหาร รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อย่างพวกผักผลไม้ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เต็มไปด้วยไขมัน น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกาย คนทั่วไปควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยเฉลี่ย 150 นาที/สัปดาห์ ด้วยกิจกรรมที่เหมาะสมตามแต่สภาพร่างกายของบุคคล
- ห่างไกลจากบุหรี่และยาเสพติด ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่ หรืออยู่ห่างจากคนที่กำลังสูบบุหรี่เพื่อป้องกันอันตรายจากการรับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย และไม่ใช้ยาเสพติดทุกชนิด
หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือรับการรักษาใดอยู่ ควรเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณสำคัญของการปวดท้องน้อยเสมอ หากพบอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาให้ทันท่วงที
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– เว็บพบแพทย์
– คนท้อง.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM