กระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) คือ การเสื่อมของกระดูกสันหลังบริเวณคอที่มักพบในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือน แต่จะเริ่มมีอาการรุนแรงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคนี้ได้โดยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่จะไม่สามารถรักษาให้หายสนิท เนื่องจากเป็นกระบวนการเสื่อมสภาพของร่างกายตามธรรมชาติ
อาการของกระดูกคอเสื่อม
โรคกระดูกคอเสื่อมมักไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น แต่ในกรณีที่มีอาการ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดบริเวณคอร้าวลงไปถึงไหล่หรือแขนได้ รวมทั้งมีอาการคอแข็ง ทำให้ขยับหรือเคลื่อนไหวคอได้ไม่สะดวกเหมือนปกติ นอกจากนี้ หากไขสันหลังหรือรากประสาทถูกกดทับ อาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น
- รู้สึกอ่อนแรงและเป็นเหน็บชาที่แขน ขา มือ หรือเท้า
- การประสานงานของร่างกายผิดปกติ ทำให้เดินลำบาก
- ไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายหรือระบบปัสสาวะได้
ทั้งนี้ หากมีอาการของภาวะกระดูกคอเสื่อมที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้กระดูกสันหลังเสียหายอย่างถาวร
- อาการปวดรุนแรงขึ้น
- การควบคุมหรือประสานงานกันของร่างกายผิดปกติ เช่น ติดกระดุมไม่ได้ เดินลำบาก เป็นต้น
- รู้สึกเจ็บเหมือนถูกเข็มตำที่แขน
- มีอาการอ่อนแรงหรือรู้สึกหนักที่ขาและแขน
- มีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ
สาเหตุของกระดูกคอเสื่อม
ภาวะกระดูกคอเสื่อมเกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายที่เป็นไปตามวัย โดยมักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบได้ในคนวัยอื่นที่มีปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้
- เคยได้รับบาดเจ็บที่คอ
- ทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวคอบ่อย ๆ หรือเกิดแรงกดบริเวณคอมากเกินไป
- มีการเกร็งคออยู่ในท่าทางที่ผิดจากปกติเป็นเวลานาน หรือเคลื่อนไหวคอในท่าเดิมซ้ำ ๆ ตลอดทั้งวัน
- คนในครอบครัวมีภาวะกระดูกคอเสื่อม
- สูบบุหรี่
- ไม่ออกกำลังกาย
- มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
การวินิจฉัยกระดูกคอเสื่อม
หากสงสัยว่าตนเองอาจมีภาวะกระดูกคอเสื่อม หรือมีอาการผิดปกติดังข้างต้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด โดยในเบื้องต้นแพทย์จะซักอาการและสอบถามว่าเคยได้รับอุบัติเหตุใด ๆ เมื่อไม่นานมานี้หรือไม่ จากนั้นจึงตรวจการเคลื่อนไหวของคอ ตรวจปฏิกิริยาตอบสนองและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อดูว่ามีแรงกดทับที่เส้นประสาทบริเวณสันหลังหรือไขสันหลังหรือไม่ รวมทั้งตรวจดูว่าความผิดปกติดังกล่าวส่งผลต่อการเดินหรือไม่
นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อดูความเสียหายของกระดูกและเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลัง โดยวิธีที่แพทย์มักใช้ตรวจ ได้แก่
- การถ่ายภาพด้วยรังสี เป็นวิธีที่ช่วยให้มองเห็นความผิดปกติของกระดูกและเส้นประสาทบริเวณคอ เช่น การเอกซเรย์ การทำ MRI Scan การทำ CT Scan เป็นต้น และอาจฉีดสารย้อมสีเข้าไปในโพรงกระดูกไขสันหลังก่อนการเอกซเรย์ เพื่อช่วยให้เห็นลักษณะของกระดูก โพรงบรรจุไขสันหลัง หมอนรองกระดูก และเส้นประสาทบริเวณคอได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เป็นการตรวจการทำงานของเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อ เพื่อดูว่ามีความผิดปกติที่เกิดจากกระดูกคอเสื่อมหรือไม่
- การตรวจความเร็วของการนำสัญญาณประสาท แพทย์จะใช้ตัวนำไฟฟ้าวางไว้บนผิวหนังบริเวณเหนือเส้นประสาท จากนั้นจึงปล่อยกระแสไฟฟ้าเบา ๆ เพื่อดูว่าการส่งสัญญาณประสาทจากไขสันหลังไปยังกล้ามเนื้อเป็นปกติดีหรือไม่
เมื่อได้ผลการตรวจเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะนำมาประกอบการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป
การรักษากระดูกคอเสื่อม
การรักษาภาวะนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยในเบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด รวมทั้งให้พยายามเคลื่อนไหวร่างกายและใช้ชีวิตตามปกติ แต่หากมีอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจรักษาโดยใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
- การใช้ยา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น รวมทั้งอาจให้ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้
- การทำกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะสอนวิธีออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอและไหล่ให้แก่ผู้ป่วย เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด
- การประคบเย็นหรือประคบร้อน ทำได้โดยใช้แผ่นประคบเย็นหรือร้อนวางบริเวณคอเพื่อลดอาการเจ็บปวด แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเสมอ
- การใส่เฝือกคอ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใส่เฝือกอ่อนบริเวณคอเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อบรรเทาอาการ แต่หากใส่นานเกินไปอาจมีผลข้างเคียงทำให้คอไม่แข็งแรงได้
- การฉีดยา แพทย์จะฉีดสารสเตียรอยด์และยาแก้ปวดเข้าไปยังข้อต่อคอที่มีอาการปวดหรือบริเวณใกล้ ๆ กับกระดูกสันหลัง
- การผ่าตัด โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่ในกรณีที่มีแรงกดทับจากภาวะกระดูกคอเสื่อมมากเกินไป หรือแรงกดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเส้นประสาท แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำกระดูกที่กดทับอยู่ออก ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากภาวะกระดูกคอเสื่อมได้
ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกคอเสื่อม
กระดูกคอเสื่อมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยในกรณีที่เกิดแรงกดทับที่กระดูกสันหลังอย่างรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงบริเวณแขน มือ ขา หรือเท้า ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายผิดปกติ กล้ามเนื้อหดเกร็ง ร่างกายทำงานไม่ประสานกัน มีปัญหาในการเดิน และกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่
นอกจากนี้ ภาวะกระดูกคอเสื่อมยังอาจก่อให้เกิดโรครากประสาทคอ ซึ่งเกิดจากกระดูกสันหลังหรือเส้นประสาทบริเวณคอถูกกดทับ ทำให้เกิดอาการปวดที่แขนข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง และหากมีอาการรุนแรงขึ้นก็อาจทำให้เส้นประสาทเสียหายอย่างถาวรได้ในที่สุด
การป้องกันกระดูกคอเสื่อม
กระดูกคอเสื่อมไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นความเสื่อมสภาพทางร่างกายที่มักเกิดขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทำได้เพียงลดความเสี่ยงด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
- คอยระมัดระวังให้คออยู่ในท่าทางที่เหมาะสมขณะอยู่ในอิริยาบทต่าง ๆ ทั้งการยืน การนั่ง หรือการเดิน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่คอ
- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
- ระมัดระวังในการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง หรือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บบริเวณคอเสมอ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– เว็บพบแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM