ผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี พร้อมวิธีดูแล

ผื่นขึ้นหน้าทารกทำไงดี? รู้จักอาการผื่นขึ้นหน้าทารกและสาเหตุที่ทำให้ทารกเป็นผื่นแดงที่หน้าพร้อมวิธีดูแลรักษาและป้องกัน จะมีวิธีป้องกันอย่างไร ไปดูกัน

บ้านไหนที่ทารกเป็นผื่นขึ้นตามหน้าตามตัวมามุงกันทางนี้เลย เมื่อเห็นเจ้าตัวเล็กมีอาการคันไม่สบายตัว ยิ่งคันยิ่งเกา ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน จนมีผดผื่น ตุ่มใสขึ้น คนเป็นแม่อย่างเราเห็นแล้วก็คงเป็นห่วงและกังวลใช่ไหมล่ะคะ ยิ่งในเด็กทารกที่ความสามารถในการปกป้องผิวหนังตามธรรมชาติยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ผิวไวต่อมลภาวะภายนอก และมีแนวโน้มที่จะสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย ก็มักจะมีอาการผื่นขึ้นหน้าทารก หรือที่ซอกคอ แม้จะดูเหมือนเป็นอาการเล็กน้อยและเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่คุณแม่ไม่ควรมองข้ามนะคะ เพราะอาการผื่นแพ้ในทารก อาจส่งผลต่อพัฒนาการและพฤติกรรมของลูกในระยะยาวได้ คุณแม่คนไหนยังไม่รู้ว่า หากผื่นขึ้นหน้าทารกจะทำอย่างไรดี วันนี้เรามารู้จักสาเหตุและวิธีป้องกันอาการผื่นขึ้นหน้าทารกกันเลย

สาเหตุที่ทำให้ทารกเป็นผื่นและผื่นขึ้นหน้าทารก

  • ผื่นในเด็กหรือผื่นขึ้นหน้าทารก สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านพันธุกรรม ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหอบหืด โรคแพ้อากาศ ผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือปัจจัยอื่นที่พบบ่อยมักเกิดจาก การแพ้อาหาร เช่น แพ้โปรตีนจากนมวัว ไข่ ถั่ว แป้งสาลี
  • ผื่นที่หน้าหรือทารกเป็นผื่นแดงที่หน้า โดยเฉพาะบริเวณแก้มทั้งสองข้างและคาง จะเป็นผื่นแดง บางครั้งมีตุ่มน้ำใสและแตกออกมาเป็นน้ำแฉะๆ ทำให้คัน โดยมากเกิดจากการแพ้สัมผัสกับนมที่เด็กอาจจะแหวะออกมาเลอะตามบริเวณดังกล่าว เพราะในนมที่เด็กแหวะออกมาก็จะมีน้ำย่อยในกระเพาะออกมาด้วย หรือเด็กที่ชอบเล่นน้ำลาย ซึ่งในน้ำลายก็จะมีน้ำย่อยอยู่เช่นกัน ทำให้เกิดการระคายเคืองและกลายเป็นผื่นขึ้นมาได้ มักจะรู้จักกันดีที่เรียกว่าขี้กลากน้ำนม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ได้เกิดจากเชื้อรา กลาก เกลื้อนแต่อย่างใด
  • การแพ้สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อม เช่น ตัวไรฝุ่น ซากแมลงสาบ และละอองเกสร
  • การแพ้สารซาลิไซเลตในผลไม้และผัก และวัตถุเจือปนในอาหาร เช่น สารแต่งรสในอาหารแปรรูป
  • การแพ้สารที่มีกลิ่น เช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
  • ผื่นแพ้ในทารกหรือทารกเป็นผื่นแดงที่หน้า อาการอาจรุนแรงขึ้น เมื่อสวมเสื้อผ้าที่มีเนื้อหยาบ เสื้อผ้าที่คับ การสัมผัสกับทราย อากาศที่แห้ง และฝุ่นละออง โดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว
     

วิธีป้องกันให้ลูกน้อยห่างไกลจากผื่นแพ้ในทารกหรือทารกเป็นผื่นแดงที่หน้า

การดูแลผิวพรรณของลูกน้อยเป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อนมากๆ เพราะหากลูกเป็นผื่นเพียงนิดเดียวก็อาจลุกลามกลายเป็นผิวหนังอักเสบติดเชื้อได้ คุณแม่ที่กำลังสงสัยอยู่ว่า ผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี จึงต้องดูแลเขาด้วยความอ่อนโยนที่สุดด้วยวิธี ดังนี้

  • ทุกครั้งที่เด็กแหวะนมออกมาเลอะบริเวณแก้มและคาง ควรใช้สำลีชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันทารกเป็นผื่นแดงที่หน้า 
  • ให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าเบาสบายที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เพื่อป้องกันทารกเป็นผื่นผดร้อน 
  • ซักผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้าในน้ำยาซักผ้าที่ปราศจากสารเคมีและน้ำหอม และล้างออกด้วยน้ำจนสะอาด ไม่ควรใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม 
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่อุ่นจนเกินไป ใช้ครีมอาบน้ำหรือสบู่อ่อนที่ไม่มีน้ำหอมในตอนเย็นครั้งเดียว หลีกเลี่ยงสารสกัดธรรมชาติที่ทำมาจากอาหาร เช่น นม ข้าวโอ๊ต แป้งสาลี และใช้แค่น้ำในการทำความสะอาดร่างกายลูกน้อยในตอนเช้า 
  • ปกป้องผิวของลูกน้อย เพื่อป้องกันทารกเป็นผื่น โดยการทาโลชั่นทาผิวสูตรเฉพาะสำหรับเด็ก  
  • ควรวางผ้าปูเมื่อให้ลูกน้อยเล่นบนพื้นหรือพื้นดิน และหลีกเลี่ยงการวางลูกไว้บนพรม หญ้าหรือทรายโดยตรง และควรใช้ผ้าอ้อมของเด็กวางพาดไว้บนบ่าของคนอุ้มทุกครั้ง  
  • ให้ลูกดื่มนมอย่างน้อย 6 เดือนแรกหรือนานที่สุดเท่าที่จะให้ได้ เพราะนมแม่มีคุณสมบัติ hypoallergenic (H.A.) ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภูมิแพ้ได้
    คุณแม่ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่มากระตุ้นให้ทารกเป็นผื่นแดงตามตัว หรือสิ่งที่ทำให้ทารกเป็นผื่นแดงที่หน้าหรือที่คอ รวมทั้งฝุ่นจิ๋วด้วย สำหรับเรื่องอาหารก็ควรทานอาหารตามวัย เพื่อจะสามารถสังเกตได้ว่าลูกมีผื่นหลังทานอาหารตัวใหม่ตัวใด ซึ่งผื่นจากการแพ้อาหารในเด็กส่วนใหญ่มักเกิดจากการแพ้โปรตีนนมวัวและไข่ โดยเฉพาะไข่ขาว โดยพบได้บ่อยในเด็กวัยทารก เพราะระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงแสดงอาการแพ้ออกมาทางระบบผิวหนัง แต่คุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกเป็นผื่นแดงทั้งตัวและบนใบหน้าเกิดจากอาการแพ้อาหารหรือเปล่า? 

วิธีทดสอบเบื้องต้น

คือลองสังเกตอาการลูก โดยการให้ลูกงดทานอาหารต้องสงสัย ประมาณ 1- 2 สัปดาห์ จนกระทั่งอาการผื่นคันหายไป จากนั้นลองให้ลูกกินใหม่อีกครั้ง ถ้าผื่นขึ้นตัวหรือทารกเป็นผื่นแดงที่หน้าอีก ก็อาจเป็นไปได้ว่าทารกเป็นผื่นเพราะเเพ้อาหารชนิดนั้น หากสงสัยว่าลูกมีอาการเเพ้อาหารควรพาไปพบกุมารแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้เพื่อวินิจฉัยอีกครั้งเพื่อความแม่นยำนะคะ แต่ในกรณีที่เป็นผื่นลมพิษไม่ควรลองทานอาหารต้องสงสัยเองที่บ้านนะคะ  

5 ผื่นแพ้ของลูกน้อย พบบ่อย…แต่รับมือได้

“ผื่นแพ้” เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กเล็ก เพราะผิวหนังของลูกมีความบอบบางมาก

มาทำความรู้จักผื่นแพ้ที่พบบ่อย พร้อมมีวิธีรับมือ เพื่อดูแลลูกน้อยให้ดีที่สุดไปด้วยกัน…

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ลักษณะ : ตุ่มแดง หรือ ตุ่มน้ำใส พบมากบริเวณใบหน้า และด้านนอกของแขนขา

สาเหตุ : ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน โดยพื้นทางพันธุกรรมที่มีในตัวผู้ป่วยเอง หรือคนในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้

การรับมือ : หลีกเลี่ยงการอาบน้ำบ่อยเกินไปหรือใช้น้ำที่ร้อนเกินไป แนะนำให้ทาครีมหรือโลชั่นบำรุงทันทีหลังอาบน้ำ

กลากน้ำนม

ลักษณะ : ผื่นวงกลมหรือวงรี สีออกขาว จางกว่าผิวหนังปกติ หรืออาจมีขุยติดอยู่ พบบ่อยบริเวณใบหน้า คอ ไหล่และแขน

สาเหตุ : ยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน การถูกแสงแดดอาจทำให้เกิดการทำงานผิดปกติของสีผิวหนัง มองเห็นรอยขาวได้ชัดเจนขึ้น

การรับมือ : หลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกถูกแสงแดดจัด ทาครีมกันแดดป้องกันไม่ให้เกิดผื่นใหม่มากขึ้น

  1. คราบไขมันที่หนังศีรษะ

ลักษณะ : คราบไขมันคล้ายรังแคบริเวณหนังศีรษะ อาจลามไปที่ใบหน้า ซอกคอ หรือรักแร้

สาเหตุ : ต่อมไขมันอักเสบ เชื้อราบนหนังศีรษะหรือหนังศีรษะแห้ง

การรับมือ : ใช้น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์หรือน้ำมันเพิ่มความชุ่มชื้นสำหรับทาผิวทารก ทาเบา ๆ บนคราบไขมัน ทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยแชมพูสำหรับเด็ก

ผื่นผ้าอ้อม

ลักษณะ : ตุ่มหรือปื้นแดงบริเวณต้นขาด้านใน ก้น หรืออวัยวะเพศ

สาเหตุ : การเสียดสีหรือความอับชื้นจากการสวมใส่ผ้าอ้อมนานเกินไป

การรับมือ : ทาขี้ผึ้งหรือครีมเคลือบผิวเพื่อป้องกันผิวหนังไม่ให้ถูกสารเคมีหรือสิ่งต่าง ๆ และเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ

ผื่นลมพิษ

ลักษณะ : ผื่นบวมแดง คัน มีรอยนูนชัดเจน ผื่นจะเป็น ๆ หาย ๆ

สาเหตุ : เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การแพ้อาหาร หรือสารก่อภูมิแพ้

การรับมือ : หลีกเลี่ยงสิ่งที่ลูกแพ้ ถ้าเป็นเรื้อรังให้พบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลกรุงเทพ
– web nestlemomandme
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี