ทำความรู้จัก Acyclovir (อะไซโคลเวียร์) ต้านเชื้อไวรัสเริม

Acyclovir (อะไซโคลเวียร์) ในกลุ่มต้านเชื้อไวรัส ที่ช่วยในการชะลอการเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ (Herpes Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเริม งูสวัด และโรคอีสุกอีใส ต้องใช้ภายในการควบคุมของแพทย์ และใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียง สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้ แต่ห้ามใช้ในสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรโดยไม่แจ้งให้แพทย์ทราบ

กลไกการออกฤทธิ์ของยา Acyclovir
อะไซโคลเวียร์จะออกฤทธิ์เข้าไปยับยั้งการแพร่พันธุ์ของเชื้อไวรัส โดยรบกวนการสร้างและสังเคราะห์สารทางพันธุกรรม (DNA) ของเชื้อไวรัส ทำให้ไวรัสไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้อาการของโรคบรรเทาลงในที่สุด

ตัวอย่าง Acyclovir
อะไซโคลเวียร์ (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อะไซเวียร์ (Acyvir), เอซีวี (A.C.V.), อะโซแวกซ์ (Azovax), ไคลโนเวียร์ (Clinovir), โคลวิน (Clovin), โคลวิรา (Clovira), โคลเซอร์ (Colsor), โคเวียร์ (Covir), ไซโคลแรกซ์ (Cyclorax), ดีโคลเวียร์ (Declovir), เอนเทียร์ (Entir), ฟาเลิร์ม (Falerm), ไวเวียร์ (Vivir), ไวโซ (Vizo), เซวิน (Zevin), โซโควิน (Zocovin), โซวิแรกซ์ (Zovirax) เป็นต้น

รูปแบบของยา Acyclovir

  • แบบเม็ดสำหรับรับประทาน มี 3 ขนาด คือ 200 400 และ 800 มิลลิกรัม
  • แบบแคปซูลสำหรับรับประทาน
  • แบบครีมสำหรับทาภายนอก ประกอบด้วยอะไซโคลเวียร์ ความเข้มข้น 5%
  • แบบน้ำ
  • แบบขี้ผึ้งป้ายตา ประกอบด้วยอะไซโคลเวียร์ ความเข้มข้น 3%
  • แบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ประกอบด้วย อะไซโคลเวียร์ ความเข้มข้น 25 mg/ml

Acyclovir ใช้รักษาโรคอะไรบ้าง

  • ใช้เพื่อบรรเทาอาการ และลดระยะเวลาการเกิดเป็นแผล หรือตุ่มน้ำพอง ในผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส หรือผู้ป่วยโรคงูสวัด
  • ใช้รักษาเริมในที่ต่างๆ เช่น ผิวหนัง ตา จมูก ริมฝีปาก หรือโรคเริมที่อวัยวะเพศ ทั้งในผู้ป่วยที่เป็นครั้งแรก หรือผู้ที่กลับเป็นซ้ำ
  • ใช้รักษาภาวะอักเสบของโรคผิวหนังที่เป็นผื่นแดง (Eczema Herpeticum)
  • ใช้รักษาในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือโรคแฮรีลิวโคพลาเกีย (Hairy leukoplakia)
  • ในปัจจุบันมีงานวิจัยชี้ว่า ประสิทธิภาพการรักษาของ Acyclovir ลดลง เนื่องจากไวรัสก่อโรคพัฒนาสายพันธุ์ที่ดื้อยาขึ้น โดยภาวะดื้อยาสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันดี และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

Acyclovir ชนิดรับประทาน

  • รักษาโรคงูสวัด 800 มิลลิกรัม 5 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 7-10 วัน
  • รักษาโรคเริมอวัยวะเพศ 200 – 400 มิลลิกรัม 5 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 7-10 วัน
  • ป้องกันการกำเริบของโรคเริมที่อวัยวะเพศ 400 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน
  • โรคอีสุกอีใสในผู้ใหญ่ 800 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง หรือ 4 ครั้ง/วัน ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน
  • โรคอีสุกอีใสในเด็ก 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 6 ชม. เป็นเวลา 5 วัน โดยขนาดสูงสุดไม่เกิน 800 มิลลิกรัม/ครั้ง

อ่านต่อ : วิธีการใช้ ยา Acyclovir (อะไซโคลเวียร์) ต้านเชื้อไวรัสเริม

Acyclovir ชนิดครีมสำหรับทาภายนอก
มีข้อบ่งใช้ คือ รักษาผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสเริม
ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ คือ ขนาดความเข้มข้น 5% ทาบริเวณที่ติดเชื้อวันละ 5-6 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5-10 วัน

Acyclovir ชนิดขี้ผึ้งป้ายตา
มีข้อบ่งใช้ คือ รักษาผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสเริม
ขนาดการใช้ในผู้ใหญ่ ขนาดความเข้มข้น 3% ป้ายเปลือกตาล่างด้านในวันละ 5 ครั้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมง ใช้ต่อเนื่องกัน 3 วัน
หลังจากอาการหายดีแล้วไม่ควรใช้ต่อ เนื่องจากขี้ผึ้งสำหรับป้ายตาอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการมองเห็น และไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้เครื่องจักรหลังการใช้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ Acyclovir

  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ และยาในกลุ่มเดียวกัน เช่น วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir)
  • ห้ามแบ่งให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้และเก็บยาที่หมดอายุ
  • ควรระวังการใช้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้ที่มีความบกพร่องในการทำงานของตับหรือไต

ผลข้างเคียงจากยา Acyclovir
โดยส่วนใหญ่แล้วผลข้างเคียงของยา Acyclovir ที่สามารถพบได้ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย ความอยากอาหารลดลง รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ ผมร่วง ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดข้อ สับสน พฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลง และหากเป็นยาชนิดฉีดก็อาจมีอาการบวมแดง และอักเสบบริเวณที่ฉีดยาได้
นอกจากนี้ยังมีอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการปรับสภาพร่างกายจากการใช้ยา เช่น

  • ในกรณีที่ได้รับยาในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
  • ในการใช้ยาระยะยาวอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย หรือปวดศีรษะ

ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี อาจได้รับผลข้างเคียงจาก Acyclovir มากกว่าคนอื่น เพราะมักมีปัญหาเรื่องไตไม่สามารถกำจัดได้เท่ากับคนอายุน้อย จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

หากลืมรับประทาน Acyclovir ต้องทำอย่างไร?
โดยทั่วไปถ้าลืมรับประทาน ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้กับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดเป็นสองเท่า
อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานอาจทำให้การรักษาภาวะติดเชื้อไม่สมบูรณ์ หรือทำให้เกิดอาการเชื้อดื้อของโรคเริมได้

การเก็บรักษา Acyclovir

  • ควรเก็บในภาชนะบรรจุเดิม ปิดภาชนะให้สนิท และเก็บให้พ้นมือเด็ก
  • ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส ไม่ควรอยู่ในที่อุณหภูมิมากกว่า 30 องศาเซลเซียส
  • ห้ามถูกแสงแดดโดยตรง
  • ไม่เก็บในบริเวณที่เปียก หรือชื้น
  • ควรทิ้งทันทีเมื่อหมดอายุ

Acyclovir สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายอย่าง จึงควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือ เภสัชกรในร้านขายยา หากเกิดอาการแพ้ยารุนแรง ควรหยุดใช้ยา และไปพบแพทย์ทันที


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.)
– เว็บไซต์ Medthai
– เว็บไซต์ pobpad
– เว็บไซต์ hdmall
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

ยังไม่มีบัญชี