ยาเทอร์บินาฟีน Terbinafine ยาต้านเชื้อรารักษาการติดเชื้อราตามร่างกาย

ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) เป็นยาต่อต้านเชื้อรา ทางคลินิกนำมารักษาการติดเชื้อราตามร่างกายเช่น หนังศีรษะ ผิวหนังตามร่างกาย ที่ขาหนีบ เท้า นิ้ว เล็บมือ เล็บเท้า ผู้ที่จะสั่งจ่ายยานี้ควรต้องเป็นแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเทอร์บินาฟีนจะเป็นยาชนิดรับประทานและยาทาเฉพาะที่ เมื่อรับประทานตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 40% โดยประมาณ และจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้มากกว่า 99% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 7 – 36 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ด้วยมีข้อพึงระวังก่อนการใช้ยาเทอร์บินาฟีนบางประการที่แพทย์มักจะนำมาพิจารณาประกอบก่อนการจ่ายยานี้เช่น

  • ผู้ป่วยมีอาการและภาวะการทำงานของตับเป็นปกติหรือไม่โดยสังเกตอาการที่เกิดกับผู้ป่วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะสีคล้ำ ปวดท้อง อุจจาระสีจางมาก ตาเหลือง ตัวเหลือง เป็นต้น
  • เป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำหรือป่วยเป็นโรคลูปัส (Lupus) หรือไม่
  • ผู้ป่วยแพ้ยานี้หรือไม่
  • ผู้ป่วยติดสุราหรือไม่ด้วยแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยานี้
  • ยานี้สามารถทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวในร่างกายลดต่ำลง แพทย์มักจะไม่จ่ายยานี้ให้กับผู้ที่มีภาวะติดเชื้อต่างๆอยู่ก่อนแล้ว
  • การใช้ยานี้อาจทำให้ผิวหนังของผู้ป่วยแพ้แสงแดดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้อาจทำให้อารมณ์และพฤติกรรมผู้ป่วยเปลี่ยนไป รวมถึงความรู้สึกในการรับรสชาติของอาหารและการดมกลิ่นเปลี่ยนไปจากเดิม
  • นอกจากนี้ยังมีเรื่องยาอื่นๆที่ผู้ป่วยอาจมีรับประทานประจำตัวอาจทำปฏิกิริยาระหว่างยากับยาเทอร์บินาฟีนก็ได้
  • ยังมีเรื่องอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่สามารถเกิดขึ้นขณะใช้ยานี้ โดยแพทย์ต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วย อีกทั้งอาการแพ้ยาที่อาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย
  • กรณีสตรีตั้งครรภ์กับการใช้ยาเทอร์บินาฟีนชนิดรับประทาน จากการศึกษาวิจัยโดยใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งท้องพบว่า ตัวยามิได้ทำให้ตัวอ่อนของสัตว์ทดลองพิการหรือผิดปกติแต่ประการใด แต่ยังไม่มีข้อสนับสนุนกับการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ ทางคลินิกยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษกรณีที่จะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
  • อายุของผู้ป่วยถูกนำมาพิจารณาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งด้วยเด็กเล็กกับผู้สูงอายุ สภาพร่างกายโดยเฉพาะตับจะมีความแข็งแรงไม่เท่ากับผู้ป่วยที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวไปจนถึงกลางคน

ด้วยข้อควรระวังที่มีมากมายดังกล่าว การเลือกใช้ยาเทอร์บินาฟีนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบยารับประทานหรือยาทาผิวหนังชั้นนอก ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

เทอร์บินาฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาเทอร์บินาฟีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น รักษาการติดเชื้อรา/ยีสต์ (Yeast) บริเวณผิวหนัง โคนผม หนังศีรษะ เล็บมือ เล็บเท้า

เทอร์บินาฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเทอร์บินาฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ของเชื้อราที่มีชื่อว่า Squalene epoxidase ซึ่งมีหน้าที่ในกระบวนการสังเคราะห์สารที่มีชื่อว่า Sterol ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนสาร Ergosterol ติดตามมา ซึ่งสาร Ergosterol เป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ในเชื้อรา ทำให้เชื้อราไม่สามารถสร้างผนังเซลล์ขึ้นมาได้ส่งผลให้หยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

เทอร์บินาฟีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การเลือกรูปแบบการใช้ยาเทอร์บินาฟีนเป็นยารับประทานหรือยาทาภายนอกต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษาเช่น กรณีติดเชื้อราเพียงเล็กน้อยที่ผิวหนัง แพทย์อาจเลือกใช้เพียงยาทาภายนอกก็น่าจะเพียงพอ หากมีการติดเชื้อรารุนแรงเป็นบริเวณกว้างของผิวหนังร่างกายหรือเป็นที่เล็บหรือหนังศีรษะ การใช้ยาทาอาจไม่เพียงพอที่ตัวยาจะออกฤทธิ์ได้ทั่วถึง แพทย์ก็สามารถเลือกเป็นตัวยาชนิดรับประทานแทน โดยต้องมีการสืบค้นข้อมูลมาประกอบก่อนการสั่งจ่ายตามที่ระบุใน “บทนำ”

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาเทอร์บินาฟีนสามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรใช้ยาเทอร์บินาฟีนตรงเวลา

มีข้อควรระวังการใช้เทอร์บินาฟีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเทอร์บินาฟีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามกลืนยานี้ที่เป็นชนิดทาโดยเด็ดขาด และต้องระวังหลีกเลี่ยงมิให้ยานี้ทาเข้าตา
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก รวมถึงคนชรา โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพของยาชำรุดและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับ-ไตผิดปกติ
  • หากใช้ยานี้ไปแล้วเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือเกิน 1 เดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ระหว่างใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงหรือแม้แต่การสัมผัสกับแสงจากหลอดไฟนานๆด้วยอาจทำให้ผิวไหม้ได้
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยาเช่น ตัวบวม ใบหน้า-คอ-ลิ้น-ปากบวม อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีลมพิษหรือผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรง พยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

เทอร์บินาฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

สำหรับปฏิกิริยาระหว่างยาเทอร์บินาฟีนกับยาอื่น ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะยาชนิดรับประทานเท่านั้น ด้วยยาเทอร์บินาฟีนในรูปแบบยาทาภายนอกยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานใดๆ

  • การใช้ยาเทอร์บินาฟีนร่วมกับยารักษามะเร็งเต้านมเช่น Tamoxifen จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษามะเร็งของยา Tamoxifen ด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทอร์บินาฟีนร่วมกับยา Leflunomide (ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค), Mipomersen (ยาลดไขมันในเลือด) ด้วยจะทำให้เกิดปัญหาการทำงานของตับ และอาจพบอาการไข้ หนาวสั่น ปวดท้อง บวมตามตัว ผื่นคัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะมีสีเข้ม ตัวเหลืองและตาเหลือง
  • การใช้ยาเทอร์บินาฟีนร่วมกับยา Vortioxetine (ยารักษาทางจิตเวช) อาจส่งผลต่อระดับยา Vortioxetine ในเลือดจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่เรียกว่า Serotonin syndrome โดยจะพบอาการ ประสาทหลอน รู้สึกสับสน มีอาการของลมชัก หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ เหงื่อออกมาก ตาพร่า กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาเทอร์บินาฟีนร่วมกับยา Eliglustat ที่ใช้รักษาอาการโรคทางพันธุกรรมอย่าง Gaucher disease (โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมากจากมีความผิดปกติของคาร์โบไฮเดรตบางชนิด) อาจนำมาซึ่งอาการข้างเคียงของยา Eliglustat ต่อหัวใจของผู้ป่วยโดยทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น โดยจะมีอาการนำเป็นสัญญาณเตือนเช่น เริ่มจากวิงเวียน เป็นลม หายใจขัด ชีพจรอ่อน เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงที่รุนแรงดังกล่าวข้างต้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเทอร์บินาฟีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาเทอร์บินาฟีนทั้งชนิดรับประทานและชนิดทาภายนอกภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง







แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– หาหมอ.com
– เว็บพบแพทย์
– สวัสดีคุณหมอ.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี