กลากเกลื้อน เชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ รีบรักษาเพื่อสุขภาพผิวที่ดี

กลาก (Tinea circinato or ring worm)

เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) สามารถติดต่อได้ง่าย หากไปสัมผัสกับคนที่เป็นโรคนี้ หรือไปใช้ของใช้ของคนที่เป็นโรคนี้ก็มีโอกาสติดโรคมาได้ สัตว์เลี้ยงในบ้านอย่างสุนัข แมว ก็อาจนำโรคนี้มาให้ได้ เพราะคนที่เลี้ยงมักจะคลุกคลีกอดอุ้มสัตว์เลี้ยงเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ บางทีไปรับมาจากร้านตัดผม ร้านเสริมสวยโดยไม่รู้ตัวก็มี เนื่องจากติดต่อได้ง่ายจึงพบ โรคกลาก ได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบบ่อยในเด็ก คนที่มีเหงื่อออกมาก หรือผิวหนังอับชื้นง่าย มากกว่ากลุ่มอื่น

กลาก อาจพบบนผิวหนังได้แทบทุกส่วนในร่างกาย จำแนกตามตำแหน่งที่เป็นได้ดังนี้

กลากที่หนังศีรษะ

พบมากในเด็ก จะมีการอักเสบของหนังศีรษะ อาจตรวจพบเป็นตุ่มหนอง หนังศีรษะลอกออกเป็นขุย หรือมีตุ่มหนองและน้ำเหลืองจับเป็นแผ่นที่หนังศีรษะ เส้นผมบริเวณที่เป็นจะเปราะ หัก หลุดง่าย เป็นกระจุกกลมๆ บางท่านอาจจะเคยได้ยินคำเรียก ชันนะตุ ก็หมายถึงโรคกลากที่หนังศีรษะนั่นเอง

กลากที่ขึ้นตามผิวหนัง

เกิดได้หลายแห่งบนร่างกาย ที่พบบ่อยคือ ช่องหูส่วนนอก ใบหู หน้า ซอกพับของร่างกายบริเวณรักแร้ ขาหนีบ และซอกนิ้วเท้า จะมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตามบริเวณที่เป็น เช่น ถ้าเป็นที่ขาหนีบ เรียกว่า สังคัง, ถ้าเป็นที่ง่ามนิ้วเท้า เรียกว่า ฮ่องกงฟุต หรือ น้ำกัดเท้า เป็นต้น

ลักษณะของโรคกลากที่ผิวหนังคือ จะเห็นผิวหนังบริเวณนั้นแดง มีสะเก็ดบางๆ ขาว ๆ ที่ตรงขอบมักจะเรียงกันเป็นวงๆ และมักจะหายตรงกลางก่อน แต่ขอบจะขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ ขอบของวงมักจะเป็นตุ่มนูนแข็งมีขอบ หรือเป็นตุ่มนูนมีน้ำอยู่ข้างในเรียงอยู่รอบๆ มีอาการคันมาก คนที่เป็นจะเกาทำให้ตุ่มใสนี้แตกและกลายเป็นขุยขาวๆ อยู่รอบๆ ขอบ
สำหรับกลากที่ขาหนีบ หรือสังคัง จะขึ้นเป็นวงที่ขาหนีบ 2 ข้าง แล้วลุกลามออกไปเรื่อยๆ มักมีสีคล้ำ บางทีคันมากเกาจนน้ำเหลืองเฟอะและผิวหนังหนาได้ ส่วนกลากที่ง่ามนิ้วเท้า หรือฮ่องกงฟุต จะขึ้นเป็นขุยขาวๆ และยุ่ย ถ้าแกะลอกออก ผิวจะมีลักษณะแดงๆ มีน้ำเหลืองซึม และมีอาการคันยิบๆ

กลากขึ้นที่เล็บ หรือ เชื้อราที่เล็บ

เกิดได้ทั้งเล็บมือ เล็บเท้า พบในคนเป็นเชื้อราที่อื่น เช่น ที่มือ เท้า มาก่อน ทำให้เล็บขุ่นเป็นสีขาวปนเหลือง หนาขึ้น ผิวเล็บขรุขระ ไม่เรียบ เล็บจะเปราะ หักง่าย มักเป็นจากปลายเล็บเข้าไปหาโคนเล็บ

การรักษาโรคกลาก

เมื่อเริ่มมีอาการ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา อย่าปล่อยให้โรคลุกลาม ยาที่ใช้รักษาอาจจะใช้ทั้งยาทาและยากินร่วมกันขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ที่รักษา สำหรับยาทาเฉพาะที่ แพทย์จะให้ยาชนิดที่เหมาะกับสภาพของผื่น เช่น ถ้าเป็นตามตัว มีสะเก็ด ผิวค่อนข้างแห้ง อาจใช้ยาทาที่เป็นขี้ผึ้ง แต่ถ้าเป็นบริเวณซอกที่อับชื้นหรือผื่นมีตุ่มหนอง ตุ่มน้ำใส ต้องใช้ยาประเภท ครีม ผง น้ำยาป้ายทา เป็นต้น ส่วนยากิน ขนาดและระยะเวลาที่ให้จะต่างกันไปขึ้นกับว่าเป็นเชื้อราที่ใด ถ้าเป็นเชื้อราที่ศีรษะหรือผิวหนัง จะกินยานานประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าเป็นเชื้อราที่เล็บมือจะให้กินนานประมาณ 4- 6 เดือน ส่วนเชื้อราของเล็บเท้าไม่นิยมให้ยากิน เพราะไม่ทำให้หายขาดได้ ข้อสำคัญคือ ต้องรักษาความสะอาดอย่าให้เท้าอบ หรือเท้าเปียกชื้น เชื้อราตามซอกเท้าจะดีขึ้นโดยการใช้ยาทาเฉพาะที่

การป้องกันโรคกลาก

  • พยายามอย่าสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้ของใช้ร่วมกันกับผู้เป็นโรคกลาก
  • รักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งและเช็ดตัวให้แห้ง
  • อย่าให้เกิดความอับชื้นในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คนที่มีเหงื่ออับชื้นบริเวณขาหนีบ ก็ให้เลี่ยงการใส่กางเกงในที่รัดแน่นหรืออบจนเกินไป หรือคุณผู้ชายที่มักใส่ถุงเท้าและรองเท้าทำให้ง่ามนิ้วเท้าอับชื้น ก็ควรเลี่ยงใส่ถุงเท้าไนล่อนหรือใยสังเคราะห์ ส่วนคนทั่วไปหลังอาบน้ำหรือไปย่ำน้ำทำให้ซอกนิ้วเท้าเปียก ก็ควรเช็ดให้แห้ง

เกลื้อน (Tinea versicolor)

เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว เกิดจากเชื้อรากลุ่มมาลาสซีเซีย เฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ที่ผิวหนังตามธรรมชาติ โดยปกติเชื้อรานี้จะไม่แผลงฤทธิ์จนกว่าจะมีปัจจัยส่งเสริมให้เชื้อราเจริญงอกงาม เช่น การมีเหงื่ออับชื้น ดังนั้นคนที่มีเหงื่อออกมากหรือสวมใส่เสื้อผ้าที่อับชื้นเหงื่อ จึงพบว่าเป็นโรคนี้ได้มาก นอกจากนั้น อาจพบในคนที่ขาดสารอาหาร โลหิตจาง เป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ รวมทั้งคนที่ได้รับยาสเตียรอยด์

ลักษณะของเกลื้อน ผื่นมีลักษณะเป็นจุดเปลี่ยนสีบนผิวหนัง เป็นดวงกลมเล็กๆ ขนาดประมาณ 4-5 มิลลิเมตร จำนวนหลายดวง โดยทั่วไปจะแยกกันอยู่เป็นดวงๆ เห็นเป็นรอยด่างหรือรอยแต้มสีขาวหรือน้ำตาลอ่อน ในระยะที่เป็นใหม่ๆ จะเห็นเป็นสะเก็ดบางๆ ลักษณะเป็นเงามัน สีขาว น้ำตาลหรือแดงเรื่อๆ คลุมอยู่บนผิว เวลาขูดจะหลุดออกเป็นขุย ถ้าเป็นเรื้อรังดวงของเกลื้อนอาจรวมกันเป็นผื่นขนาดใหญ่ โดยปกติมักไม่มีอาการคัน ยกเว้นเวลามีเหงื่อออก มักพบผื่นตามลำตัว เช่น ที่หน้าอก ท้อง ไหล่ หลัง ช่วงคอ หน้า ตามแขนขาและที่ข้อพับ ได้แก่ รักแร้ และขาหนีบ

การรักษาโรคเกลื้อน

เกลื้อนเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ส่งผลในด้านความสวยงาม คนที่เป็นมักจะต้องใส่เสื้อผ้าปกปิดไว้ไม่ให้ใครเห็น กลัวคนทักให้อับอาย ดังนั้น ถ้าเป็นก็ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบทำการรักษาแต่เนิ่นๆ เพราะยิ่งปล่อยจนเป็นเรื้อรังก็จะขยายขนาดทำให้ผิวยิ่งดูไม่สวยงาม แถมยังดูเป็นคนไม่รักษาความสะอาด การรักษาเกลื้อนสามารถรักษาได้ด้วยการทายาฆ่าเชื้อรา โดยใช้ยาทาบริเวณที่เป็นอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันมียาทาที่ได้ผลดีอยู่หลายตัว แพทย์จะพิจารณาตัวยาที่เหมาะสมให้ โดยทั่วไปการรักษาด้วยยาทามักได้ผลดี เว้นในคนที่เป็นรุนแรงใช้ยาทาไม่ได้ผล หรือเป็น ๆ หาย ๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ยารับประทานเพื่อรักษาหรือป้องกัน การรักษาด้วยยาทาบางทีอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ก็อย่าใจร้อน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ การใช้ยารักษาเกลื้อนไม่ว่าจะเป็นยาทาหรือยากิน ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น อย่าวินิจฉัยโรคและซื้อยาทาแก้ผื่นคันที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์มาทาเอง เช่น ครีมเพร็ดนิโซโลน เพราะอาจทำให้โรคลุกลามได้

การป้องกันโรคเกลื้อน

  • ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
  • อย่าใส่เสื้อผ้าที่อับเหงื่อหรืออับชื้น และเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกวัน
  • มีโรคอื่นที่อาจดูคล้าย เกลื้อน มากจนอาจจะเข้าใจผิดได้เหมือนกัน อย่างเช่น กลากน้ำนม พบได้บ่อยในเด็ก โรคนี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อรา มักขึ้นบริเวณแก้มหรือหน้าผาก ส่วนใหญ่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะหายไปได้เอง อีกโรคก็คือ โรคด่างขาว โรคนี้เกิดจากเซลล์ผิวหนังบางส่วนไม่สร้างเม็ดสีตามปกติ ทำให้ผิวดูมีรอยด่างไม่สวยงามได้ สามารถแก้ไขได้ด้วย การสักรักษา ดังนั้นเมื่อมีรอยด่างขาวที่ผิวก็อย่าวินิจฉัยเอง ถ้าจะให้แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ ถ้าเป็นเกลื้อนก็จะได้รักษาอย่างตรงจุด







แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลโรคผิวหนัง
– โรงพยาบาลยันฮี
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี