ยา Tetracycline – ข้อมูล ข้อบ่งใช้ ผลข้างเคียง

เตตระไซคลิน (Tetracycline) ผลิตจากแบคทีเรียในกลุ่ม streptomyces จัดเป็นยากลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อสิว บรูเซลลา กาฬโรค โรคหนองใน มาลาเรีย และซิฟิลิส ยาเตตระไซคลินได้รับการขึ้นทะเบียนยาใน ค.ศ. 1953 และวางจำหน่ายในท้องตลาดเมื่อ ค.ศ. 1978 ยา Tetracycline เป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลก ปัจจุบันมีจำหน่ายในรูปแบบยาสามัญ
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Tetracycline

ยา Tetracycline เป็นยายับยั้งแบคทีเรียในกลุ่มเตตระไซคลิน ออกฤทธิ์ควบคุมการเจริญของแบคทีเรียโดยเข้าจับกับไรโบโซม ชนิดย่อย 30S แบบผันกลับได้ เป็นผลให้เกิดการยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนและหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ยา Tetracycline มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อกว้าง ประกอบด้วยเชื้อกลุ่ม Chlamydiaceae Mycoplasma spp Rickettsia spp spirochetes แบคทีเรียทั้งกลุ่มที่ใช้และไม่ใช้ออกซิเจน ทั้งกลุ่มแกรมบวกและแกรมลบ รวมไปถึงฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อโปรโตซัวบางชนิด

ข้อบ่งใช้ของยา Tetracycline
ข้อบ่งใช้สำหรับอาการติดเชื้อ ยาในรูปแบบยารับประทาน

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 250 ถึง 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุด 4 กรัม ต่อวัน
  • ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ขนาดยาสูงสุด 2 กรัมต่อวัน
  • ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาสิว
  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 250 ถึง 500 มิลลิกรัมต่อวัน ให้แบบวันละครั้ง หรือแบ่งให้ยา เป็นเวลาอย่างน้อยสามเดือน

ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาซิฟิลิส

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละสี่ครั้ง เป็นเวลา 15 วัน
  • ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อบรูเซลา
  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละสี่ครั้ง เป็นเวลาสามสัปดาห์ โดยให้ยาร่วมกับยา streptomycin

ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อโกนอเรีย หรือหนองใน

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละสี่ครั้งเป็นเวลา 7 วัน

ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา Tetracycline

  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ด โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน
  • กรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไปให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไปและไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด

ข้อควรระวังของการใช้ยา Tetracycline

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ยา Tetracycline หรือยากลุ่ม Tetracycline อื่น
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการใช้ยาเมธอกซีฟลูเรน (methoxyflurane) วิตามินเอ (vitamin A) เรตินอยด์ (retinoid)
  • ห้ามใช้ยานี้ในสตรีให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเอส แอล อี (SLE)
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรค Myasthenia Gravis (MG) หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ และโรคไตระดับความรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง
  • ระวังการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์

ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา Tetracycline
ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ ได้แก่ รบกวนระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายท้อง เกิดแผลที่หลอดอาหาร ฟันเปลี่ยนสีถาวร ชั้นเคลือบฟันบางลง เกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากการลอกของผิว เล็บเปลี่ยนสี ไวต่อแสง ค่าเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นไข้ ปวดข้อ โลหิตจางเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก เกร็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ เกิดจุดน้ำตาลดำเมื่อตรวจสอบต่อมไทรอยด์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ อาการอันไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ได้แก่ การแพ้ยาแบบ Anaphylaxis อาการท้องเสียจากการติดเชื้อ Clostridium difficile เกิดภาวะพิษต่อตับ และไขมันพอกตับ

ข้อมูลการใช้ยา Tetracycline ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
สำหรับการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม category D คือไม่แนะในการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ เว้นแต่ในกรณีช่วยชีวิต หรือรักษาอาการรุนแรงทซึ่งยาชนิดที่ปลอดภัยกว่ารักษาไม่ได้ผล

ปฏิกิริยาระหว่างยา Tetracycline และอาหาร
หลีกเลี่ยงการรับประทานยา Tetracycline ร่วมกับนม เพราะจะลดการดูดซึมตัวยา

ปฏิกิริยายา Tetracycline กับยาตัวอื่น

  • การรับประทานยา Tetracycline ร่วมกับยาลดกรด จะลดการดูดซึมตัวยา
  • ยา Tetracycline มีผลต่อยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ยา Tetracycline ลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด
  • ยา Tetracycline มีพิษต่อไต
  • ยา Tetracycline เพิ่มความเสียงในการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในผู้ป่วยเบาหวานที่ฉีดอินซูลินและใช้ยากลุ่ม sulfonylureas
  • ยา Tetracyclineเพิ่มความพิษต่อยา ergot alkaloids และ methotrexate



แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– เอกสารกำกับยา
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

ยังไม่มีบัญชี