เกล็ดเลือดสูง(Thrombocytosis) สาเหตุ อาการและการรักษา

เกล็ดเลือดสูง เป็นภาวะที่เกิดจากไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นชั่วคราวเพื่อช่วยให้เลือดแข็งตัว หรืออาจเกิดจากไขกระดูกทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หรืออาจทำให้มีเลือดออกตามเหงือก หรือเลือดกำเดาไหลได้ ระดับเกล็ดเลือดสูงอาจเป็นสัญญาณของภาวะที่รุนแรง ดังนั้น จึงควรรับการตรวจเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด และทำการรักษาให้เหมาะสม

เกล็ดเลือดสูง คืออะไร

เกล็ดเลือดสูง คือ ภาวะที่ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือด เพิ่มขึ้นมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เรียกว่า โรคเกล็ดเลือดสูง (Essential thrombocythemia : ET) แต่ถ้าเกล็ดเลือดสูงที่เกิดขึ้นจากโรคหรือภาวะอื่น เช่น การติดเชื้อ จะเรียกว่า ภาวะเกล็ดเลือดสูง (Thrombocytosis)

เกล็ดเลือดสูง พบบ่อยแค่ไหน

โรคเกล็ดเลือดสูงสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งส่วนใหญ่พบในผู้หญิงที่มีอายุ 50-70 ปี แต่ภาวะเกล็ดเลือดสูงอาจพบได้บ่อยกว่าโรคเกล็ดเลือดสูง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่มีเกล็ดเลือดมากกว่า 500,000 เกล็ด/ไมโครลิตร จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาวะเกล็ดเลือดสูง

อาการเกล็ดเลือดสูง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกล็ดเลือดสูง หรือภาวะเกล็ดเลือดสูง อาจไม่แสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน แต่มักจะเริ่มด้วยการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของลิ่มเลือด ดังนี้

  • ปวดศีรษะ
  • วิงเวียนศีรษะ หรือหน้ามืด เป็นลม
  • เจ็บหน้าอก
  • เหนื่อยล้า อ่อนแรง
  • มีอาการชาบริเวณมือและข้อเท้า
  • ตัวสั่น ผิวแดง ปวดแสบปวดร้อนที่มือและเท้า

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกล็ดเลือดสูง หากมีจำนวนเกล็ดเลือดมากกว่า 1,000,000 เกล็ด/ไมโครลิตร อาจทำให้มีเลือดออกในรูปแบบ ผิวฟกช้ำ เลือดกำเดาไหลเลือดออกตามเหงือก หรืออุจจาระเป็นเลือด

สาเหตุของเกล็ดเลือดสูง

ภาวะเกล็ดเลือดสูง อาจเกิดจากการติดเชื้อ การขาดธาตุเหล็ก หรือหลอดเลือดถูกทำลาย ทำให้ร่างกายเกิดบาดแผล ไขกระดูกที่มีหน้าที่สร้างเกล็ดเลือด จึงต้องสร้างเกล็ดเลือดขึ้นมาเพื่อช่วยให้เลือดจับตัวกันเป็นก้อนและแข็งตัวเพื่อห้ามเลือด ซึ่งในบางครั้งไขกระดูกอาจสร้างเกล็ดเลือดมากเกินไปจนทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดสูง
โรคเกล็ดเลือดสูง เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากไขกระดูกผิดปกติ ทำให้สร้างเกล็ดเลือดมากเกินไป ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่ประมาณ 90% ของผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมียีนที่กลายพันธุ์ทำให้เกิดโรคเกล็ดเลือดสูง

ปัจจัยเสี่ยงเกล็ดเลือดสูง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคเกล็ดเลือดสูง และภาวะเกล็ดเลือดสูง มีดังนี้

  • ส่วนใหญ่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • ส่วนใหญ่พบในผู้ใหญ่ที่มาอายุ 50-70 ปี
  • ผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดม้ามออกจากร่างกาย อาจเกิดภาวะเกล็ดเลือดสูงได้
  • ผู้ที่ฟื้นตัวจากการสูญเสียเลือดจำนวนมาก
  • ผู้ที่ขาดวิตามินบี 12 หรือโฟเลต (Folate)
  • โรคอักเสบหรือโรคติดเชื้อ เช่น วัณโรค ลำไส้อักเสบ
  • โรคโลหิตจาง
  • ปฏิกิริยาจากการใช้ยาบางชนิด

การวินิจฉัยเกล็ดเลือดสูง

การวินิจฉัยภาวะเกล็ดเลือดสูง และโรคเกล็ดเลือดสูง สามารถทำได้ ดังนี้

  • สอบถามประวัติทางการแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเกล็ดเลือดสูง เช่น สอบถามนิสัยการกิน รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถามประวัติครอบครัวว่ามีใครเกล็ดเลือดสูงหรือไม่ การติดเชื้อและการรับวัคซีน การถ่ายเลือดหรือบริจาคเลือด
  • ตรวจร่างกาย เพื่อหาสัญญาณของลิ่มเลือด อาการเลือดออก การติดเชื้อ และอาการเกล็ดเลือดสูง
  • ทำการทดสอบเพื่อช่วยในการวินิจฉัย
  • การนับเม็ดเลือด เพื่อวัดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด โดยการเจาะเลือดที่แขนเพื่อนำเลือดมาตรวจสอบ
  • ฟิล์มเลือด (Blood Smear) คือการหยดเลือดบนสไลด์แก้ว จากนั้นใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจสอบเกล็ดเลือด
  • เจาะไขกระดูก เพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของไขกระดูก รวมถึงการสร้างเซลล์เม็ดเลือดและเกล็ดเลือด โดยการนำตัวอย่างของเหลวในไขกระดูกออกมา จากนั้นส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจสอบเซลล์ที่ผิดปกติ

การรักษาเกล็ดเลือดสูง

ภาวะเกล็ดเลือดสูง

ภาวะเกล็ดเลือดสูงเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว จึงอาจไม่ต้องทำการรักษาเพื่อลดจำนวนเกล็ดเลือด นอกจากนี้ ภาวะเกล็ดเลือดสูงยังที่โอกาสน้อยที่จะทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง เช่น ลิ่มเลือดอาการเลือดออก

โรคเกล็ดเลือดสูง

การรักษาโรคเกล็ดเลือดสูงอาจไม่ต้องทำการรักษาหากอาการยังคงที่ แต่คุณหมออาจสั่งยาแอสไพรินเพื่อช่วยลดจำนวนเกล็ดเลือด นอกจากนี้ คุณหมออาจสั่งยาชนิดอื่นเพื่อช่วยในการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันเบื้องต้น ดังนี้

  • ยาลดเกล็ดเลือด
    คุณหมออาจสั่งยาชนิดนี้หากผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 60 ปี มีประวัติลิ่มเลือดหรือมีเลือดออก มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ เช่น คอเลสเตอรอลในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีเกล็ดเลือดเกิน 1,000,000 เกล็ด/ไมโครลิตร และยาที่เกี่ยวข้อง เช่น ไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea) อนาเกรไลด์ (Anagrelide) อินเตอร์เฟอรอน (Interferon)
  • การลดจำนวนเกล็ดเลือด (Plateletpheresis)
    เป็นขั้นตอนลดจำนวนเกล็ดเลือดที่ใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินเท่านั้น โดยคุณหมอจะใช้เข็มเจาะเข้าเส้นเลือดดำเพื่อดึงเลือดออกมาและเอาเกล็ดเลือดออก จากนั้นเลือดที่เหลือจะถูกส่งกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อช่วยจัดการเกล็ดเลือดสูง

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดสูง และโรคเกล็ดเลือดสูง ดังนี้

  • เข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาตามนัดหมายอย่างต่อเนื่อง
  • งดสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงเกิดลิ่มเลือด
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือการรับประทานอาการที่ทำให้ คอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
  • สังเกตอาการของลิ่มเลือดอุดตันและอาการเลือดออก หากมีอาการควรรีบพบคุณหมอทันที
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงมีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้
  • ควบคุมการใช้ยาอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของคุณหมอ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– hellokhunmor.com
– เว็บพบแพทย์

เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี