ตาแห้งเป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นภาวะที่ปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวตา สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แม้อาการตาแห้งส่วนใหญ่จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก่อปัญหากวนใจในการใช้ชีวิตได้ไม่น้อย และถ้าปล่อยให้ลุกลามก็อาจถึงขั้นอักเสบเรื้อรังรุนแรงจนเสี่ยงต่อการตาบอดได้
รู้จักชั้นต่าง ๆ ของน้ำตา
ฟิล์มน้ำตาที่ผิว เนื้อเยื่อส่วนหน้าของลูกตามีด้วยกัน 3 ชั้น จากชั้นนอกสุดไปถึงชั้นในสุด ได้แก่
- ชั้นไขมัน (Lipid Layer) สร้างจากต่อมไขมันที่เรียกว่า Meibomian Gland ที่อยู่ภายในเปลือกตา / หนังตา มีส่วนช่วยให้น้ำตาไม่ระเหยไปอย่างรวดเร็ว
- ชั้นที่เป็นน้ำ (Aqueous Layer) สร้างจากต่อมน้ำตาที่เรียกว่า Lacrimal Gland ชั้นนี้เป็นส่วนประกอบส่วนกลางและส่วนหลักของน้ำตา
- ชั้นเมือก (Mucin Layer) สร้างจากเซลล์ที่เรียกว่า Goblet Cell ในเยื่อบุตาและในกระจกตา เคลือบอยู่ด้านในสุดของผิวตาการที่มีความผิดปกติของน้ำตาในแต่ละชั้นก่อให้เกิดกลุ่มอาการตาแห้งได้ในรูปแบบต่าง ๆ กัน
สัญญาณเตือนตาแห้ง
- ระคายเคืองตา ไม่สบายตา
- แสบตา ตาล้าง่าย
- ตาแดง มีขี้ตาเมือก ๆ ได้
- ตาสู้แสงไม่ได้ น้ำตาอาจไหลมาก เพราะเคืองตา
- ตามัว มองไม่ชัด ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง
- รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา
- ลืมตายาก รู้สึกฝืด ๆ ในตา (ในตอนเช้า)
หากมีอาการเหล่านี้ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุ และให้การรักษาโดยเร็ว เพราะอาการเหล่านี้นอกจากบ่งบอกว่าเป็นโรคตาแห้งแล้ว หลายคนอาจไม่รู้ว่า โรคตาแห้งอาจเป็นภาวะที่เกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมที่ละเลยไม่ดูแลสุขภาพตาก็ได้เช่นกัน
ตัวการตาแห้ง
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดตาแห้ง ได้แก่
การสร้างน้ำตาน้อยกว่าปกติ (Aqueous Tear Deficiency) ในกลุ่มผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ได้แก่
- กลุ่มโรค Sjogren’s Syndrome อาจเกิดจากกลุ่มโรคข้อ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือไม่พบสาเหตุ(Primary Sjogren’s Syndrome)
- กลุ่มที่ไม่ใช่ Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือจากโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ แพ้ยารุนแรง การอักเสบจนท่อน้ำตาจากต่อมน้ำตาตัน หรือการที่มีกระจกตาอักเสบ มีการรับรู้ผิดปกติ การใส่คอนแทคเลนส์นาน ๆ ทำให้การกระตุ้นน้ำตาตามธรรมชาติผิดไปจากเดิม โดยโรคเหล่านี้ส่งผลให้ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติจึงผลิตน้ำตาน้อยและตาแห้ง
- ฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลง มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้เยื่อบุต่าง ๆ ในร่างกายผลิตน้ำได้น้อยลง รวมทั้งสารคัดหลั่งต่าง ๆ
- การใช้ยาบางประเภทที่ส่งผลให้ตาแห้ง เพราะมีส่วนผสมของสารกันเสีย ถ้าใช้หลายชนิดอาจทำให้ตาแห้งได้มากขึ้น เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต ยาคลายเครียดบางชนิด ฯลฯ
การที่น้ำตาระเหยเร็วหรือมีคุณสมบัติผิดปกติ (Evaporative Dry Eyes) ได้แก่
- กลุ่มต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติหรืออุดตัน (Meibomian Gland Dysfunction) เปลือกตาอักเสบ เมื่อชั้นไขมันเกิดความผิดปกติ จะทำให้น้ำตาระเหยเร็ว
- กลุ่มที่มีความผิดปกติของเปลือกตา เช่น การปิดตาไม่สนิท การกะพริบตาน้อยผิดปกติ ฯลฯ
- ภาวะหลังจากโดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาจนอาจเกิดแผลเป็น ทำให้การสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตามีปัญหา
- การใช้สายตามากเกินไป พบมากในวัยทำงาน จากการใช้งานคอมพิวเตอร์และสวมคอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นตัวการดูดน้ำออกจากลูกตา ทำให้ตาแห้ง เมื่อรวมกับพฤติกรรมชอบจ้องจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา ทำให้กระตุ้นน้ำตาออกมาน้อยและระเหยเร็ว
วิธีการและยาที่ใช้ในการรักษา
ยาและวิธีการต่างๆที่ใช้ในการรักษาตาแห้งได้แก่
น้ำตาเทียม แพทย์อาจแนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับดวงตา ซึ่งมี 2 ประเภทหลักคือ
- อาการตาแห้งไม่รุนแรง สารกันเสียที่ใช้มีหลายประเภท บางประเภทสลายไปเมื่อโดนตาหรือโดนแสง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้บ่อย ๆ กว่า 4 ครั้งต่อวันได้เป็นบางช่วง แต่ถ้าตาแห้งมากต้องใช้บ่อย ๆ ตลอดทุกวัน แพทย์มักแนะนำใช้กลุ่มไม่มีสารกันเสีย
- กลุ่มที่ไม่มีสารกันเสีย มักเป็นหลอดเล็ก ๆ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือเป็นขวดที่เป็นลักษณะมีระบบวาล์วพิเศษที่ใช้ได้นาน 6 เดือน กลุ่มนี้ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1 – 2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่ตาแห้งรุนแรงมาก แต่คนตาแห้งทั่วไปก็ใช้ได้เช่นกันอย่างไรก็ตามน้ำตาเทียมมีหลายรูปแบบทั้งแบบน้ำใสไม่ทำให้ตามัวนักใช้หยอดกลางวันซึ่งความเข้มข้นมีหลากหลายให้เลือกตามความรุนแรงและแบบเจลที่ใช้ป้ายก่อนนอนหรือกลุ่มขี้ผึ้งที่มีความเหนียวกรณีต้องการคงความชุ่มชื้นนานในตอนกลางคืน
- ยากระตุ้นทำให้เกิดน้ำตา (Secretogogue) เช่น Diquafosol เพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำ
- ยาลดการอักเสบของเปลือกตา เช่น ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ฯลฯ
- ยาลดการอักเสบของตากลุ่ม Steroids ช่วยลดการอักเสบของผิวตา กรณีมีการอักเสบจากตาแห้ง
- ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอด เช่น ยา Cyclosporine ชนิดหยอด เพื่อลดการอักเสบและเพิ่มปริมาณน้ำตา ลดอาการตาแห้ง
- การดูแลทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่น (Warm Compression and Lid Hygiene) อาจใช้แชมพูเด็กผสมเจือจาง หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตา ลดอาการต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน ทำให้ชั้นไขมันของน้ำตาดีขึ้น
- Autologus Serum ช่วยรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรง ลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพราะมีสารช่วยเรื่องการฟื้นตัวกลับคืนสู่ปกติของเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น โดยเจาะเลือดของผู้ป่วยไปปั่นและแยกเตรียมเป็น Serum แล้วนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม
- การอุดท่อระบายน้ำตา (Punctual Plug) เป็นการอุดบริเวณช่องทางที่ไหลออกของน้ำตา (Punctum) ลงสู่โพรงจมูก ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery โดยการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา ซึ่งเป็นการอุดบริเวณไหลออกของน้ำตาแบบถาวรในกลุ่มที่เป็นรุนแรงมาก
ดูแลป้องกันตาแห้งเบื้องต้น
สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลป้องกันตาแห้งคือ การปรับพฤติกรรมการใช้สายตาให้ถูกต้อง
- หยุดพักใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุก ๆ 20 นาที โดยอาจหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองไกล ๆ สัก 20 ฟุตจะทำให้สบายตามากขึ้น
- งดการใช้คอนแทคเลนส์ต่อเนื่อง ควรมีการหยุดพักโดยใส่แว่นสลับ
- ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ ๆ มีแสงสว่างเพียงพอ
- เตือนตัวเองให้กะพริบตาให้บ่อย น้ำตาจะได้เคลือบตาอยู่เป็นระยะ ๆ
- หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน ลมแรง แนะนำให้สวมแว่นเพื่อกันแดดกันลม
- กินอาหารให้ครบทุกหมู่และอาหารที่มีโอเมกา 3 (Omega 3 Fatty Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดการอักเสบบรรเทาอาการตาแห้งได้
เพราะตาแห้งเมื่อเป็นแล้วอาจเรื้อรังได้ หากมีอาการรุนแรงลองปรับการใช้งานสายตาแล้วไม่ดีขึ้น ควรพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอาการและลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลพญาไท
– โรงพยาบาลกรุงเทพ
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM