รู้จักไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) โรคที่พ่อแม่ควรระวัง

ไข้หวัดมะเขือเทศเริ่มแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีในประเทศอินเดีย และเริ่มพบผู้ป่วยในบางประเทศแต่ยังอยู่ในวงที่จำกัด แม้ในปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย แต่เชื่อว่าโรคนี้แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัส โดยเฉพาะในเด็กที่มักนำสิ่งของปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าปาก พ่อแม่จึงควรระมัดระวังและดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

 

ไข้หวัดมะเขือเทศเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร

อาการเริ่มต้นที่พบในผู้ป่วยไข้หวัดมะเขือเทศคือ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ อ่อนเพลีย บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย จากนั้นจะเกิดผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใส พบได้บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า บางคนอาจพบแผลในปากหลังจากมีผื่นขึ้นด้วย กลุ่มเสี่ยงของโรคนี้คือเด็กอายุระหว่าง 1–5 ปี และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของไข้หวัดมะเขือเทศ แต่นักวิจัยสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสคอกซากี (Coxsakie) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก ซึ่งพบบ่อยในเด็ก ทำให้มีไข้ อ่อนเพลีย และเกิดผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสภายในช่องปาก มือ และเท้าคล้ายกับผู้ที่เป็นไข้หวัดมะเขือเทศ 

นอกจากนี้ ไข้หวัดมะเขือเทศอาจเป็นเพียงความเจ็บป่วยหลังจากติดเชื้อโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) และไข้เลือดออก ซึ่งทำให้มีไข้ ปวดข้ออย่างรุนแรง และมีผื่นแดงคล้ายกัน ทั้งนี้ อาการของไข้หวัดมะเขือเทศมักไม่รุนแรงและหายเองได้ แต่เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย นักวิจัยสันนิษฐานว่าหากไม่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค อาจมีแนวโน้มที่โรคจะแพร่กระจายในผู้ใหญ่ได้

 

ไข้หวัดมะเขือเทศรักษาและป้องกันอย่างไร

ไข้หวัดมะเขือเทศอาจวินิจฉัยได้โดยดูอาการ ลักษณะผื่น และอาจตรวจเพิ่มเติมคล้ายกับโรคมือเท้าปาก โดยในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสหรือวัคซีนที่ใช้รักษาโรคได้โดยตรง แต่อาการของโรคไข้หวัดมะเขือเทศมักไม่รุนแรงและหายได้เองภายในประมาณ 1–2 สัปดาห์โดยการดูแลร่างกายที่บ้าน คล้ายกับการดูแลเด็กที่เป็นโรคไข้เลือดออกและชิคุนกุนยา ดังนี้

  • ควรให้เด็กพักผ่อนมาก ๆ และหยุดเรียน โดยกักตัวแยกจากผู้อื่นเป็นเวลา 5–7 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่คนรอบข้าง
  • ให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (Dehydration) 
  • เช็ดตัวด้วยฟองน้ำหรือผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบิดหมาด ๆ เพื่อช่วยลดการระคายเคืองผิวหนัง
  • รับประทานยาแก้ปวดและลดไข้อย่างยาพาราเซตามอล 

เนื่องจากเชื้อไวรัสมักแพร่กระจายได้ง่ายในฤดูฝนที่อากาศชื้น และติดต่อผ่านการสัมผัสสิ่งของและพื้นผิวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งหรืออุจจาระของผู้ติดเชื้อ รวมทั้งการนำสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสนี้เข้าปาก พ่อแม่จึงควรให้เด็กล้างมือให้สะอาด พยายามไม่ให้เด็กอมนิ้วมือหรือนำสิ่งของเข้าปาก หมั่นทำความสะอาดบ้าน ของใช้ในบ้าน และของเล่นเด็ก หากพบว่าเด็กมีอาการผิดปกติ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษา

ไข้หวัดมะเขือเทศเป็นโรคติดต่อที่ไม่รุนแรง และในปัจจุบันยังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้บ่อย พ่อแม่จึงควรดูแลสุขอนามัยและสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับไข้หวัดมะเขือเทศสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง  
– เว็บพบแพทย์

เรียบเรียงข้อมูลโดย CHULALAKESHOP.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี