ทำไมถึงขาลาย ?
ขาลายเกิดจากรอยหรือจุดด่างดำต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นตามขา ซึ่งจุดและรอยดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ยุงหรือแมลงกัดต่อย ตุ่มจากยุงหรือแมลงบางชนิดกัดต่อยอาจทำให้รู้สึกคันและระคายเคือง เมื่อเริ่มเกาก็อาจทำให้ตุ่มนั้นอักเสบจนสีผิวบริเวณดังกล่าวกลายเป็นจุดหรือรอยคล้ำได้
- สิว มักปรากฏบนใบหน้าและแผ่นหลัง แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกที่บนผิวหนังที่มีต่อมผลิตน้ำมันอยู่ รวมถึงบริเวณขาด้วย ซึ่งหากไปกดบีบสิวจนแตกก็อาจเกิดการติดเชื้อใต้ผิวหนังจนทำให้เกิดรอยด่างดำได้
- การบาดเจ็บ แผลเล็ก ๆ จากการโดนข่วนหรือโดนบาดอาจทำให้สีผิวบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นจุดหรือรอยคล้ำ เพราะในบางครั้งร่างกายอาจตอบสนองต่ออาการบาดเจ็บมากเกินไป จนกระทบต่อการเพิ่มเม็ดสีผิวหรือเมลานินในเนื้อเยื่อ
- การโกนหรือแว็กซ์ขน การกำจัดขนขาด้วยการโกนหรือแว็กซ์อาจทำให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวอักเสบจนเกิดขนคุดขึ้น ซึ่งในบางครั้งอาจเป็นปัญหาเรื้อรังและเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างการติดเชื้อหรือแผลเป็นได้
- ผิวหนังอักเสบ ภาวะผิวหนังอักเสบอาจทำให้ผิวแห้ง หยาบกร้าน และรู้สึกคันมาก ซึ่งหากเผลอเกาตอนกลางคืนหรือตอนนอน ก็อาจทำให้เป็นแผลและมีเลือดออกจนเกิดเป็นรอยคล้ำหรือแผลเป็นหลังจากอาการหายดีแล้ว
- แดด แสงแดดมีรังสี UV ที่ทำให้ร่างกายผลิตเม็ดสีเมลานินจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้จุดด่างดำหรือรอยต่าง ๆ ยิ่งคล้ำหรือชัดเจนขึ้นเมื่อตากแดดหรืออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
ปัญหาขาลาย จัดการอย่างไร ?
แม้หลายคนอาจเคยได้ยินความเชื่อที่ว่า ปัญหาขาลายจัดการได้ด้วยการทายาสีฟันตามจุดด่างดำหรือรอยคล้ำต่าง ๆ แต่วิธีดังกล่าวเป็นความเชื่อที่ผิด เนื่องจากยาสีฟันไม่ได้ช่วยให้รอยคล้ำจางลงได้ แต่อาจส่งผลเสียต่อผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวแห้ง แสบร้อน เป็นสิว หรือปัญหาอื่น ๆ ตามมา
ซึ่งวิิธีจัดการกับปัญหาขาลายที่ปลอดภัยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะแรก เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้ขาลายในภายหลัง เช่น อาการคัน ยุงกัด หรือผิวหนังอักเสบ เป็นต้น ซึ่งวิธีดูแลรอยดังกล่าว ได้แก่
- ประคบน้ำแข็ง เมื่อยุงกัด แมลงต่อย หรือผิวหนังอักเสบจนเกิดอาการคัน ให้นำน้ำแข็งไปประคบบริเวณดังกล่าวเพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน
- ประคบด้วยถุงชา เพราะชามีฤทธิ์ลดอาการบวมและอักเสบได้ โดยการนำถุงชาดำหรือชาเขียวไปชุบน้ำให้ชุ่มแล้วแช่แข็ง ก่อนนำมาประคบตามบริเวณต่าง ๆ
- เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล การเช็ดแอลกอฮอล์บริเวณที่ถูกยุงกัดอาจช่วยลดอาการคันที่ทำให้ขาลายได้ แต่ควรใช้แอลกอฮอล์แต่พอดี เพราะหากใช้มากเกินไป ผิวจะแห้ง และระคายเคือง
- นวดด้วยใบโหระพา เพราะใบโหระพามีสารประกอบที่ช่วยบรรเทาอาการคัน ซึ่งอาจทำได้โดยการสับใบโหระพาสดไปนวดบริเวณรอยคล้ำ หรือต้มใบโหระพาแห้งประมาณ 14 กรัม กับน้ำ 2 ถ้วย ทิ้งไว้ให้เย็น ก่อนนำผ้าขนหนูมาชุบ แล้วนำไปทาบริเวณดังกล่าวก็ได้เช่นกัน
- ทาน้ำผึ้ง เพราะน้ำผึ้งมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อ ต้านแบคทีเรีย และต้านการอักเสบ จึงอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อและช่วยสมานแผลได้ แต่ไม่ควรทาน้ำผึ้งนอกบ้านหรือในบริเวณที่ยุงชุม เพราะน้ำผึ้งอาจดึงดูดยุงให้มากัดมากขึ้นได้
- ทาว่านหางจระเข้ โดยการนำเนื้อว่านหางจระเข้สดมาประคบบริเวณแผลบนขาได้โดยตรง เนื่องจากว่านหางจระเข้ก็มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยสมานแผล และบรรเทาการติดเชื้อได้เช่นกัน อีกทั้งความเย็นของว่านหางจระเข้ก็อาจช่วยลดอาการคันจากผิวหนังอักเสบ และลดอาการแสบร้อนจากการโกนขนได้ด้วย
- ทาด้วยกระเทียมสับ เพราะกระเทียมอาจมีฤทธิ์ช่วยรักษาแผลและต้านไวรัส โดยการนำกระเทียมสับไปผสมกับน้ำมันมะพร้าวก่อนทาบริเวณดังกล่าว 2-3 นาที แต่ไม่ควรใช้กระเทียมสดสับแล้วทาโดยตรง เพราะอาจทำให้ผิวหนังอักเสบและระคายเคืองได้
- ทาผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้น ที่มีส่วนผสมของยาลิโดเคน ยาเบนโซเคน เมนทอล และสะระแหน่ เพื่อบรรเทาอาการคันและปวดชั่วคราว
- ใช้ยาต้านฮีสตามีน ทั้งชนิดรับประทานและชนิดทาที่หาซื้อได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ เพื่อลดอาการอักเสบ อาการบวม และอาการคันที่เกิดขึ้น
- ใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หากผิวหนังอักเสบจนทำให้คันมาก และกังวลว่าผิวจะดำคล้ำ ควรไปปรึกษาแพทย์ใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการอักเสบและการระคาายเคืองที่ผิวหนัง แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากับแผลเปิดหรือใช้บนใบหน้า และไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน เพราะอาจมีผลข้างเคียงให้ผิวบาง ขนดก และเป็นสิวได้
ระยะหลัง เป็นการรักษาเพื่อให้รอยดำคล้ำจางลง หรือเพื่อดูแลไม่ให้รอยดำคล้ำมากขึ้น ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- สครับผิว การสครับหรือขัดผิวอาจช่วยลดการเกิดปัญหาขนคุดซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาขาลาย โดยเป็นการขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ฝุ่น หรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ติดค้างอยู่ในรูขุมขนออกไป เพื่อให้สภาพผิวหนังดีขึ้น และอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สครับผิวที่มี AHA อ่อน ๆ เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิว ลบเลือนรอยดำคล้ำ และเพิ่มความกระจ่างใสให้ผิวหนัง ทั้งนี้ ไม่ควรถูหรือขัดผิวแรงเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวได้รับความเสียหาย จนส่งผลให้ผิวไวต่อรังสี UV และเกิดเป็นรอยดำคล้ำได้
- ใช้ครีมกันแดด โดยเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป เพื่อป้องกันรอยดำคล้ำต่าง ๆ มีสีเข้มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม วิธีต่าง ๆ ในการรับมือปัญหาขาลายที่ทำได้ด้วยตนเองที่บ้านจากวัตถุดิบธรรมชาติอาจเห็นผลช้า รอยคล้ำต่าง ๆ อาจไม่หายสนิทในเร็ววันหรือทันที และอาจต้องใช้เวลานานกว่า 6-12 เดือน ซึ่งหากรักษาขาลายด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ผล หรือขาลายมากจนส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และความมั่นใจ ก็อาจไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและปรับสภาพสีผิวด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
- การใช้ผลิตภัณฑ์ปรับผิวขาว หรือครีมทาผิวต่าง ๆ ที่มีสารปรับสภาพผิว เช่น ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เตรติโนอิน (Tretinoin) คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) และกรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) เป็นต้น ซึ่งแพทย์อาจให้ใช้ครีมเหล่านี้ร่วมกับการลอกผิวด้วยสารเคมี และใช้ครีมกันแดดที่เหมาะสมตามดุลยพินิจของแพทย์
- การเลเซอร์ เป็นเทคโนโลยีความงามที่ช่วยปรับรอยดำคล้ำหรือจุดด่างดำต่าง ๆ บนขาให้ดูจางลง โดยการยิงแสงเลเซอร์ไปบนผิวหนังเพื่อทำลายผิวชั้นหนังกำพร้าด้านบนสุดและทำลายเซลล์ที่ผลิตเม็ดสีผิว ซึ่งเมื่อสีผิวตามรอยต่าง ๆ จางลง ปัญหาขาลายก็จะไม่เด่นชัด สีผิวบริเวณขาก็อาจดูเรียบเนียนเสมอกัน แต่การทำเลเซอร์อาจช่วยปรับสีผิวได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
- การลอกผิวด้วยสารเคมี เพื่อปรับสภาพผิวบริเวณขาให้ดูกระจ่างใส ลดรอยคล้ำ หรือจุดด่างดำต่าง ๆ ตามขา รักษาปัญหาสิวบางชนิด และเจือจางรอยแผลเป็นต่าง ๆ แต่การลอกผิวอาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น จึงควรใช้ครีมกันแดดเป็นประจำและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ
ป้องกันขาลาย อย่างไรดี?
วิธีป้องกันปัญหาขาลาย มีดังต่อไปนี้
- เปลี่ยนใบมีดโกนหรือใช้ครีมโกนขน การใช้ครีมโกนขนอาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังและทำให้โกนขนขาได้ง่ายขึ้น โดยควรล้างใบมีดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนใช้ทุกครั้ง ใช้ใบมีดที่มีขอบเรียบคมแบบใช้แล้วทิ้งหรือแบบใช้ซ้ำเพียงไม่กี่ครั้ง และไม่ควรโกนย้อนแนวขน
- สวมกางเกงที่สะอาดและระบายเหงื่อได้ดี ไม่ใส่กางเกงหรือชั้นในที่รัดและคับจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสี ส่วนการใส่กางเกงที่ไม่สะอาดก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเป็นสิวได้ จึงควรเลือกใส่กางเกงที่ค่อนข้างหลวม ระบายอากาศได้ดี และทำจากผ้าที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงสารก่ออาการแพ้ หลีกเลี่ยงการใช้หรือการสัมผัสฝุ่น ขนสัตว์ สารในผลิตภัณฑ์ซักผ้า หรือสารในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้และอักเสบจนทำให้คันหรือระคายเคืองตามมา
- ป้องกันไม่ให้โดนแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการทายากันยุง หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มียุงชุกชุม
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
– เว็บพบแพทย์
เรียบเรียงข้อมูลโดย CHULALAKESHOP.COM