อาการเจ็บคอ หรือ คออักเสบ คือการเจ็บ คัน หรือระคายเคืองภายในลำคอ และมักมีอาการมากขึ้นขณะกลืน สาเหตุของการเจ็บคอที่พบได้บ่อยที่สุดคือการติดเชื้อไวรัส (Viral pharyngitis) จากไข้หวัดซึ่งสามารถหายเองได้ คออักเสบจากเชื้อสเตรป (Streptococcal pharyngitis) เป็นอาการเจ็บคอที่เกิดขึ้นจากการรับเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักและต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ส่วนการเจ็บคอด้วยสาเหตุอื่นอาจต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัย
สาเหตุของการเจ็บคอเกิดจากอะไรได้บ้าง?
สาเหตุของอาการเจ็บคอสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- เจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่จะพบว่ามาจากเชื้อไวรัส ซึ่งการเจ็บคอจากเชื้อไวรัสจะสามารถหายได้เองภายใน 3-7 วัน โดยไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ ซึ่งแตกต่างจากการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่จะมีอาการนานกว่า และต้องรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งต่อเนื่องจนหมด
- เจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โรคบางโรคสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บคอหรือคออักเสบได้ เช่น ไซนัส ภูมิแพ้ กรดไหลย้อน รวมไปถึงพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งเสริมให้เกิดอาการเจ็บคอ เคืองคอได้ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ชอบรับประทานอาหารทอดๆ มันๆ หรืออาหารรสจัด เป็นต้น
อาการเจ็บคอจากไวรัส vs แบคทีเรีย แตกต่างกันยังไง?
อาการเจ็บคอจากไวรัส
มักมีอาการเหมือนกับไข้หวัด มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล เสียงแหบ เจ็บคอมีความรุนแรงน้อย – ปานกลาง คอและทอนซิลบวมแดง แต่สิ่งสำคัญคือไม่มีจุดหนอง มักมีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว
อาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย
มีไข้ คัดจมูกและปวดตึงใบหน้า แต่มักไม่มีอาการไอ ลิ้นเป็นฝ้า คอแดง ลิ้นไก่และทอนซิลบวมแดง มีจุดหนองซึ่งเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดในการสังเกตว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึงต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรบวมโต กดแล้วเจ็บ
วิธีรักษาอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ต้องกินยาอะไรและดูแลตัวเองอย่างไร
สำหรับอาการเจ็บคอที่มาจากการติดเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ แต่สามารถรับประทานยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือยาตามอาการที่เป็นได้ รวมถึงดูแลตัวเองด้วยการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำอุณหภูมิห้องมากๆ สามารถกลั้วคอด้วยน้ำเกลือเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน และที่สำคัญควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายเพิ่มและป้องกันการแพร่กระจายของโรค
วิธีรักษาอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ต้องกินยาอะไรและดูแลตัวเองอย่างไร
หากมีอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หรือปรึกษาเภสัชกร เพื่อรับยาปฏิชีวนะ โดยจะต้องรับประทานยาต่อเนื่องจนหมด เพื่อประสิทธิภาพของตัวยาและลดโอกาสการดื้อยา แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม และควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำ รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อและสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายเพิ่มและป้องกันการแพร่กระจายของโรค
สรุป เจ็บคอ จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อไหม?
- ในการรักษาอาการเจ็บคอ ในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักจะใช้ยาปฎิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บคอได้มีหลายชนิด เช่น Group A ß-hemolytic streptococcus (GAS), Streptococcus pneumonia, Haemophilus influenza เป็นต้น
- แต่หากอาการเจ็บคอ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ก็ไม่ต้องกินยาฆ่าเชื้อ เพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ และหากกินเข้าไปอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียง และอันตรายต่อสุขภาพได้ด้วย
อาการเจ็บคอแบบนี้เป็นโรคอะไรได้บ้าง
- อาการเจ็บคอ คอแดง แต่ไม่มีจุดขาวหรือหนองที่ทอนซิล มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เมื่อยตัว อาจเป็นอาการของการติดเชื้อจากไวรัส เช่น โรคไข้หวัดทั่วไป โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 โรคโมโนนิวคลิโอสิส โรคหัด โรคอีสุกอีใส หรือโรคเริม เป็นต้น
- อาการเจ็บคอ คอแดง มีจุดขาวหรือหนองที่ทอนซิล มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรโต อาการเหล่านี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคไข้หวัดทั่วไป ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นต้น
- มีอาการเจ็บคอ เคืองคอทุกวันตอนเช้า แต่ช่วงสายๆ อาการจะทุเลาลง เหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อน ซึ่งกรดจะไหลย้อนขึ้นมาในตอนกลางคืนขณะที่ร่างกายอยู่ในท่านอนราบ ทำให้รู้สึกเคือง ระคายคอ บางคนอาจมีเสียงแหบ เสียงเปลี่ยนไปได้
- อาการเจ็บคอ คอแดง รู้สึกเหมือนมีน้ำมูกไหลลงคอ หายใจทางจมูกลำบาก ต้องอ้าปากหายใจแทน อาจเกิดจากการแพ้อาการหรือโรคเกี่ยวกับจมูก เช่น โรคภูมิแพ้อากาศ แพ้เกสรดอกไม้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
- เจ็บคอ ระคายเคืองคอ กลืนน้ำลายลำบากขึ้น ไม่มีไข้ อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่อาจมาจากการรับประทานอาหารทอดๆ มันๆ อาหารรสจัด สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นควันหรือสารเคมีเยอะ รวมถึงการใช้เสียงผิดวิธีทั้งการพูดเสียงดัง ตะโกน หรือพูดเป็นเวลานานๆ ได้
- เจ็บคอเรื้อรัง เสียงแหบ กลืนลำบาก มักมีเสมหะอยู่ในลำคอและระคายคอตลอดเวลา อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้จากโรคเนื้องอกในลำคอและกล่องเสียงได้
- เจ็บคอเรื้อรังเป็นๆ หายๆ เวลากลืน หาว เคี้ยว หรือไอ มักร้าวไปยังหู คอและศีรษะหลายวินาที เป็นอาการของโรคของเส้นประสาทที่อยู่บริเวณคอ ซึ่งอาการดังกล่าวมาจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 ถูกกระตุ้น หรือเกิดการระคายเคือง ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บคอและอาการข้างเคียงดังกล่าวได้
การป้องกันอาการเจ็บคอ
อาการเจ็บคอเกิดจากการติดเชื้อภายในอากาศ หรือการสัมผัสเชื้อโดยตรง การป้องกันจึงต้องลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เจ็บคอ หรือคออักเสบ
- หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และไม่ควรเอามือเข้าปาก โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือการดมควันบุหรี่
- สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ หากต้องไปยังสถานที่แออัด หรือมีอาการป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
- หากพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นคออักเสบให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสตัว และห้ามใช้ของร่วมกัน
- กรณีพบผู้ป่วยในเด็ก ควรพาไปพบแพทย์ หรือเภสัชกร และให้เด็กพักผ่อนมาก ๆ และสอนให้เด็กระวังพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
เจ็บคอควรกินอะไรดี และไม่ควรกิน หรือห้ามกินอะไรบ้าง
- เลือกกินอาหารรสอ่อน หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
- ไม่ควรดื่มน้ำเย็น แต่ให้ดื่มน้ำอุณหภูมิห้องเยอะๆ แทน แต่ถ้าเจ็บคอที่เกิดจากต่อมทอนซิลอักเสบ สามารถดื่มน้ำเย็นหรือกินไอศครีมได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองได้
- ซุปไก่ ในซุปไก่นั้นอุดมไปด้วยโซเดียม ซึ่งมีส่วนช่วยลดการอักเสบ
- ชาเขียวอุ่น หรือน้ำขิง นอกจากเป็นเมนูแก้เบื่อจากการจิบน้ำเปล่าธรรมดาได้ดีแล้ว ยังมีส่วนช่วยรักษาการติดเชื้อ ลดอาการเจ็บคอได้อีกด้วย
- โกโก้ ดาร์กช็อกโกแลต มีสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยลดอาการอักเสบของร่างกายได้
เจ็บคอ หรือคออักเสบแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
- เจ็บคอมาก คอแดง ร่วมกับมีไข้
- เจ็บคอ ร่วมกับหายใจและกลืนลำบาก
- เจ็บคอและมีอาการปวดหู ปวดศีรษะ
- เจ็บคอ เสียงแหบ มีเลือดปนเสมหะ หรือน้ำลาย
ทั้งนี้ หากมีอาการเจ็บคอนานกว่า 2 สัปดาห์ รับประทานยาแล้วยังไม่หาย หายใจลำบาก กลืนไม่ได้จนน้ำลายไหล ควรรีบพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการบ่งชี้โรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงโรคไข้หวัดทั่วไป
จะเห็นได้ว่าอาการเจ็บคอสามารถบ่งชี้โรคได้อีกมากมาย ดังนั้น หากมีอาการเจ็บคอมากผิดปกติ และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนการรับประทานยาทุกครั้ง เพราะการรับประทานยาในกรณีที่ไม่จำเป็นอาจทำให้ร่างกายทำงานหนักขึ้น อีกทั้งยังมีโอกาสดื้อยาในอนาคตได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– VIMUT Hospital
– gedgoodlife.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM