วิตามิน บี ผู้ปกป้องเซลล์ประสาทและสมอง

หนึ่งในวิตามินตัวท็อปที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างราบรื่นเป็นปกติ ประกอบด้วยวิตามินบีหลากหลายชนิด เพื่อใช้บำรุงฟื้นฟูร่างกาย รวมถึงเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะระบบประสาทและสมอง
วิตามินบีรวม (Vitamin B Complex) เป็นวิตามินบีสำหรับบำรุงร่างกายและระบบประสาท ซึ่งประกอบด้วยวิตามินบีจำนวนหลายชนิด ในปัจจุบันถูกผลิตออกมาในรูปแบบแคปซูลเสริมอาหาร เพื่อให้รับประทานง่าย และช่วยเสริมแร่ธาตุในส่วนที่ร่างกายมีไม่เพียงพอวิตามินบีสามารถพบได้ทั่วไปจากการรับประทานอาหาร

ประโยชน์ของวิตามินบี สารอาหารบำรุงสมอง
สมองเป็นอวัยวะส่วนหนึ่ง ที่ต้องการสารอาหารมาบำรุงเหมือนร่างกาย และเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อระบบร่างกายมาก เพราะเป็นส่วนที่จดจำในเรื่องต่างๆ คิด แล้วยังสั่งการอยู่ตลอดเวลา เมื่อสมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสั่งการมายังส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ทำกิจกรรมก็จะดีตามไปด้วย
กลุ่มวิตามินบี ถือเป็นสารสำคัญที่สมองและระบบประสาทต้องการ เพราะมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง แบ่งออกเป็นหลายแบบ

วิตามินบี 1 (ไทอามีน,Thiamine)
ช่วยบำรุงสมองและเซลล์ประสาทให้แข็งแรง มีมากในอาหารพวกเมล็ดธัญพืช และอาหารที่ปรุงขึ้นจากเมล็ดข้าว เช่น ขนมปัง ข้าว พาสต้า ธัญพืช รวมทั้งในเนื้อหมูก็มีมากด้วย

ปริมาณที่แนะนำต่อวัน
ร่างกายต้องการวิตามินบี 1 วันละ 1.5 มิลลิกรัม (หากรับประทานมากเกินไปจะถูกขับออกทางปัสสาวะ เพราะวิตามินบี 1 ละลายในน้ำ)

อาการเมื่อขาดวิตามินบี 1
ทำให้เป็นโรคเหน็บชา หรืออาจพบอาการช้า กล้ามเนื้อแขนขาไม่มีแรง ส่งผลไปถึงร่างกายอ่อนเพลีย หลงลืมง่าย ไปจนถึงกล้ามเนื้อตาอ่อนล้า หากเป็นมากอาจมีอาการใจสั่น หัวใจโตและเต้นเร็ว มีอาการหอบ เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ร่างกายหยุดการเจริญเติบโตได้

ในเด็กที่ขาดวิตามินบี 1 (Infantile beri-beri) จะร้องเสียงแหลมเพราะหงุดหงิด ขาดน้ำตาล มีอาการหอบ หรืออ้าปากร้องแต่ไม่มีเสียงเพราะกล่องเสียงเป็นอัมพาต และเสียชีวิตภายใน 2 ชั่วโมง
ในวัยผู้ใหญ่ หากขาดวิตามินบี 1 เรียกว่า เหน็บชาแห้ง จะมีอาการชา กล้ามเนื้อลีบ และอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า เหน็บชาเปียก จะมีอาการชาและบวม เมื่อกดเนื้อแล้วเนื้อจะบุ๋ม ไม่เด้งคืนตัว เมื่อยิดมือแล้วแขนสั่น และอีกกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบทางสมอง เรียกว่า เวอร์นิคโคซาคอฟ (Wernicke-Korsakoff syndrome) สมองเสียประสิทธิภาพ และมีการพบว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีวิตามินบี 1 ต่ำ

วิตามินบี 5 (กรดแพนโตธีนิค, Pantothenic acid)
ช่วยสร้างโคเอ็นไซม์ที่ช่วยในการถ่ายทอดสัญญาณประสาทเมื่อถูกกระตุ้น มีมากใน เนื้อวัว สัตว์ปีกพวกเป็ดหรือไก่ ปลา ธัญพืชที่เป็นเม็ดๆ พืชผักประเภทที่เป็นฝัก เช่น ถั่ว กระถิน นอกจากนี้ยังมีอยู่ในนมสด ผัก และผลไม้ต่างๆ

ปริมาณที่แนะนำต่อวัน
ร่างกายต้องการวิตามินบี 5 วันละ 4-7 มิลลิกรัม

อาการเมื่อขาดวิตามินบี 5
ร่างกายจะมีอาการล้า เหน็บชา ซึมเศร้า เบื่ออาหาร อาเจียน และนอนไม่หลับ

วิตามินบี 6 (ไพริด็อกซิน,Pyridoxine)
ช่วยในการเปลี่ยนทริปโตฟาน (Tryptophan) ให้เป็นเซโรโตนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองชนิดหนึ่งที่มีความเกี่ยวพันกับอารมณ์ความนึกคิดของคน พบได้ในอาหารประเภทไก่ ปลา เนื้อหมู ตับ ไต (เครื่องในสัตว์) และธัญพืช เมล็ดถั่ว ตลอดจนพืชผักชนิดที่เป็นฝัก เช่น ถั่ว หรือกระถิน เช่นกัน

ปริมาณที่แนะนำต่อวัน
ร่างกายต้องการวิตามินบี 6 วันละ 2 มิลลิกรัม

อาการเมื่อขาดวิตามินบี 6
หากร่างกายขาดวิตามินบี 6 อาจทำให้ผิวหนังอักเสบ คันตามผิวหนัง เกิดผื่น เกิดสิว ปากแห้งแตก ลิ้นอักเสบ เล็บเป็นคลื่น ผมร่วง กระดูกผุ ข้อเสื่อม ปวดตามมือตามเท้า ประสาทเสื่อม ลมชัก นอนไม่หลับ หงุดหงิด ซึมเศร้า อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก บวมก่อนมีประจำเดือน

วิตามินบี 12 (ไซยาโนโคบาลามีน, Cyanocobalamin)
ช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงให้สมบูรณ์ สร้างโปรตีน และบำรุงรักษาเนื้อเยื่อประสาท พบได้ในไข่ เนื้อสัตว์ ปลา สัตว์ปีก นม และผลิตภัณฑ์จากนมต่างๆ

ปริมาณที่แนะนำต่อวัน
ร่างกายต้องการวิตามินบี 12 วันละ 1-2 ไมโครกรัม

อาการเมื่อขาดวิตามินบี 12
โลหิตจาง เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ อ่อนเพลีย เจ็บลิ้น เจ็บปาก การเจริญเติบโตในเด็กไม่เป็นไปตามปกติ ขาดสมาธิ เครียด กล้ามเนื้อเจ็บตึง อัมพาต

กรดโฟลิค (Folic acid)
จำเป็นต่อระบบการเผาผลาญกรดไขมันโมเลกุลยาว (long-chain fatty acid) ในสมอง พบมากในกล้วย น้ำส้ม ธัญพืชต่างๆ มะนาว สตรอเบอร์รี่ แคนตาลูป ผักใบเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หรือถั่วลันเตา เป็นกรดที่สำคัญมากสำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะว่าระดับกรดที่ต่ำเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติของทารกเกิดใหม่

วิตามินบีรวม ควรกินตอนไหนดีที่สุด?
การใช้วิตามินบีรวมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ควรเลือกกินในช่วงเวลาที่เหมาะสม หลายคนอาจจะเลือกกินก่อนนอน ซึ่งจริงๆ แล้วช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับกินวิตามินบีรวมมากที่สุดก็คือ กินพร้อมมื้ออาหารและหลังอาหาร เนื่องจากร่างกายจะสามารถดูดซึมได้ดีที่สุด

นอกจากนี้ หากต้องการกินวิตามินบีรวมให้ได้ผลดีที่สุด ควรกินพร้อมกับวิตามินซี ในมื้ออาหารเช้า กลางวัน หรือเย็น ในปริมาณที่เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการ

โดยสามารถปรึกษาเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญก่อนกินวิตามินบีรวม เนื่องจากบางคนอาจได้รับผลข้างเคียงจากการกินวิตามินบีรวม เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยเบาหวานและโรคตับ รวมถึงผู้ที่มีประวัติการแพ้ยา เป็นต้น ส่วนสตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกใช้วิตามินบีรวมเพื่อเสริมอาหาร
ถึงแม้วิตามิน B จะมีหลากหลายชนิด ก็ไม่ควรขาดตัวใดตัวหนึ่ง เพราะแต่ละชนิดจะคอยทำหน้าที่เสริมซึ่งกัน และกัน นอกจากนี้ ยังต้องทำความเข้าใจก่อนว่าวิตามินไม่ใช่ทางเลือกหลักของการรักษา หรือป้องกันโรค เป็นเพียงตัวช่วยในการฟื้นฟู บำรุงร่างกาย ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ ก็จะช่วยเสริมให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเราทำงานได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลเปาโล
– Fascino
– thairath.co.th
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

ยังไม่มีบัญชี