คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อราในร่างกายและที่ผิวหนัง เช่น เชื้อราในเลือด เชื้อราในปอด เชื้อราในช่องคลอด กลาก เกลื้อน หรือรังแค โดยตัวยาจะออกฤทธิ์หยุดการสังเคราะห์ของเออร์กอสเตอรอล (Ergosterol) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์เชื้อรา จึงส่งผลต่อการลำเลียงอาหารเข้าเซลล์ของเชื้อรา ทำให้เชื้อราขาดสารอาหารและหยุดการเจริญเติบโต
ยาคีโตโคนาโซลหรือที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ไนโซรัลครีม (Nizoral cream), แชมพูไนโซรัล (Nizoral shampoo), นินาซอล (Ninazol), นอร่าครีม (Nora cream), แชมพูคีตาซอน (Ketazon), ฟังกาซอล (Fungazol tablet), สปอราซิลครีม (Sporaxyl cream) ส่วนรูปแบบของยาที่มีวางจำหน่ายตามร้านขายยาและสถานพยาบาลจะมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ดสำหรับรับประทาน ยาครีมทาผิวหนัง ยาน้ำในรูปแบบของแชมพูสระผม เป็นต้น แต่เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาจะต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
ข้อบ่งชี้ในการใช้ยา Ketoconazole
- ใช้ยาเม็ดในการรักษาเชื้อราที่ศีรษะ ผิวหนัง เล็บ กลากเกลื้อน
- ราที่เกิดในทางเดินอาหาร
- ตกขาวจากเชื้อรา
- ใช้ป้องกันการติดเชื้อราในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง
ข้อบ่งชี้ในการใช้ครีม Ketoconazole
- ใช้ทารักษากลาก
- ใช้ทารักษาเกลื้อน
- ใช้ทารักษาสังคัง
- ใช้ทารักษาเชื้อรา
ข้อบ่งชี้ในการใช้แชมพู Ketoconazole
- ใช้รักษาอาการคันเนื่องจากโรค seborrheic dermatitis
- ใช้รักษารังแค
- ใช้รักษาเกลื้อน
คำเตือนในการใช้ยาKetoconazole
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ และอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาคีโตโคนาโซล เพราะตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือทารกแรกคลอดที่ดื่มนมแม่
- ผู้สูงอายุและผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนควรระมัดระวังในการใช้ยา เนื่องจากเป็นวัยที่กระดูกมีความเปราะบาง จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักได้
- ผู้ที่เป็นโรคตับเฉียบพลันหรือเรื้อรัง โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ภาวะต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ หรือมีการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ไม่ควรใช้ยาคีโตโคนาโซล
- การใช้ยาคีโตโคนาโซลอาจเพิ่มความเสี่ยงเกี่ยวกับตับอย่างรุนแรง หากมีอาการที่อาจบ่งบอกว่าตับมีปัญหา เช่น เหนื่อยล้าผิดปกติ ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ตาและผิวหนังเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม และอุจจาระมีสีซีด ควรรีบไปพบแพทย์
- ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างที่ใช้ยาคีโตโคนาโซล เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ตับเกิดความเสียหายมากขึ้นได้
- ยาคีโตโคนาโซลชนิดรับประทาน ไม่เหมาะกับการรักษาการติดเชื้อบางอย่าง เช่น การติดเชื้อราที่เล็บ การติดเชื้อราในกลุ่มแคนดิดา (Candida Infections) การติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) ที่ผิวหนัง
- ยาคีโตโคนาโซลรูปแบบยาทาเป็นยาสำหรับใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน ห้ามทาบนผิวหนังที่เป็นแผล รอยถลอก รอยไหม้ บริเวณใกล้ดวงตาหรืออวัยวะที่เป็นเยื่อเมือก เช่น ตา จมูก ปาก และช่องคลอด
ปริมาณการใช้ยาKetoconazole
ปริมาณการใช้ยาคีโตโคนาโซลจะอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ป่วยแต่ละคนอาจใช้ยาในปริมาณที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรคและความรุนแรงของโรค โดยตัวอย่างการใช้ยามีดังนี้
- รังแค
ตัวอย่างการใช้ยาคีโตโคนาโซล เพื่อรักษาและป้องกันรังแค
เด็ก ปริมาณยาและระยะเวลาการใช้ยาต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์
ผู้ใหญ่ ใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของยาคีโตโคนาโซล 2% สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2–4 สัปดาห์ กรณีใช้ป้องกันรังแค ให้ชโลมแชมพูบนหนังศีรษะที่เปียกทิ้งไว้ 3–5 นาที และล้างออกให้สะอาด ทุก 1–2 สัปดาห์ - โรคเกลื้อนและการติดเชื้อราที่ผิวหนัง
ตัวอย่างการใช้ยาคีโตโคนาโซล เพื่อรักษาโรคเกลื้อนหรือการติดเชื้อราที่ผิวหนัง
เด็ก ปริมาณยาและระยะเวลาการใช้ยาต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์
ผู้ใหญ่ ใช้ยาชนิดทาหรือครีมที่มีส่วนผสมของยาคีตาโคนาโซล 2% ทาลงบนผิวหนังบริเวณที่เป็นเกลื้อนและผิวหนังโดยรอบ วันละ 1–2 ครั้ง เป็นเวลา 2–3 สัปดาห์ เมื่ออาการหายดีแล้วควรใช้ต่อเนื่องไปอีกประมาณ 2–3 วัน ไม่ควรหยุดใช้ยาทันที
ในกรณีเกิดเชื้อราบนหนังศีรษะให้ใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของยาคีโตโคนาโซล 2% วันละ 1 ครั้ง และควรใช้ต่อเนื่องสูงสุดไม่เกิน 5 วัน ส่วนการป้องกันเชื้อราบนหนังศีรษะให้ชโลมแชมพูลงบนหนังศีรษะที่เปียกก่อนออกแดด วันละ 1 ครั้ง และควรใช้ต่อเนื่องสูงสุดไม่เกิน 3 วัน - การติดเชื้อราที่แพร่กระจายทั่วร่างกาย
ตัวอย่างการใช้ยาคีโตโคนาโซลเพื่อรักษาการติดเชื้อราที่แพร่กระจายทั่วร่างกาย เช่น กลากที่มือ บริเวณขาหนีบ หรือตามลําตัว และการติดเชื้อกลุ่มแคนดิดาที่ผิวหนัง
เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป รับประทานยา 3.3–6.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย
ผู้ใหญ่ ให้รับประทานยา 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากการตอบสนองของยาไม่เพียงพออาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
การใช้ยาKetoconazole
การใช้ยาคีโตโคนาโซลจะต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือตามวิธีใช้บนฉลากอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยามากกว่าหรือน้อยกว่าที่แพทย์แนะนำ และควรใช้ยาให้ครบตามกำหนดเวลาที่แพทย์แนะนำ เพราะหากใช้ยาไม่ครบตามเวลาที่กำหนดอาจทำให้อาการดีขึ้นจริงแต่การติดเชื้อยังคงอยู่ และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้ออื่น ๆ ที่ดื้อต่อยาต้านเชื้อรามากขึ้นด้วย
เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย ผู้ป่วยอาจต้องตรวจเลือดก่อนใช้ยา และอาจต้องตรวจเลือดบ่อยครั้งในระหว่างใช้ยาด้วย เพื่อดูการทำงานของตับ เพราะตัวยาอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับตับ หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่ตอบสนองต่อยา มีอาการแพ้ยา หรือมีผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาในปริมาณมากเกินไปเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์
การใช้ยาคีโตโคนาโซลในรูปแบบของยาทา ควรล้างมือทั้งก่อนและหลังการใช้ยา เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อกระจายไปตามส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย หรือแพร่ไปยังคนอื่น สำหรับการเก็บยาควรเก็บยาที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความชื้น ฃความร้อน แสงแดด รวมถึงเก็บให้พ้นมือเด็ก
ปฏิกิริยาระหว่างยาKetoconazoleกับยาอื่น
ยาคีโตโคนาโซลอาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้
ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) เช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) และยามิดาโซแลม (Midazolam) เพราะอาจเพิ่มฤทธิ์ของยาในการกดระบบประสาท และทำให้เกิดอาการง่วงซึมหรือรู้สึกตัวลดลง
ยาในกลุ่มเออร์กอต (Ergots) เช่น ยาเออร์โกตามีน (Ergotamine) ยาเออร์โกโนวีน (Ergonovine) เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ หรือเกิดภาวะจิตเภท
ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาซิซาไพรด์ (Cisapride) ยาควินิดีน (Quinidine) เพราะอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ยาลดไขมันในเลือด เช่น ยาโลวาสแตติน (Lovastatin) ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ
ยาลดกรด เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมของยาลดลง โดยให้รับประทานยาลดกรดก่อนยาคีโตโคนาโซล 1 ชั่วโมง หรือหลังจากรับประทานยาคีโตโคนาโซล 2 ชั่วโมง
ตัวอย่างยาดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยาคีโตโคนาโซลเท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาKetoconazole
การใช้ยาคีโตโคนาโซลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายได้ โดยผลข้างเคียงทั่วไปที่เกิดได้จากการใช้ยาในรูปแบบรับประทาน เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และปวดท้อง ส่วนผลข้างเคียงจากการใช้ยาในรูปแบบครีมหรือแชมพู อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อผิวหนัง เช่น มีอาการคัน ผิวหนังไหม้ ผิวหนังลอก หรือผิวหนังตกสะเก็ด
ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงที่ควรรีบไปพบแพทย์ มีดังนี้
- มีอาการปวดศีรษะพร้อมกับเจ็บหน้าอก วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม รวมถึงหัวใจเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ
- มีความผิดปกติที่เกี่ยวกับตับ โดยสังเกตได้จากการรู้สึกเจ็บปวดบริเวณท้องส่วนบน มีอาการคัน รู้สึกเหนื่อยอ่อน ร่างกายอ่อนแอผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน ไม่อยากอาหาร และปัสสาวะมีสีเข้ม
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ มีไข้ มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ เจ็บหน้าอก และหายใจลำบาก
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– medthai.com
– pobpad.com
– siamhealth.net
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM