เช็คตัวเองด่วน สัญญาณเตือนโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน นั้นบางทีเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการอะไรบ่งบอก ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ หากไม่ได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ก็จะไม่ทราบว่าเป็นเบาหวาน จนกระทั่งโรคดำเนินไปมากแล้วจึงจะรู้ตัว แนะนำให้ตรวจน้ำตาลในเลือดเมื่อมีอาการดังกล่าว สามารถตรวจเช็คได้ตามคลีนิกร้านยาทั่วไป หรือปรึกษาแพทย์โดยตรง

บางครั้งผู้ป่วยมาพบแพทย์ เนื่องจากมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นโดยที่ตนเองไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่าเป็นเบาหวาน ซึ่งหากปล่อยไว้ในบางราย อาจสายเกินกว่าที่จะเรียกสุขภาพที่ดีกลับคืนมาได้ ดังนั้น เราควรตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเองด้วยว่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้เกี่ยวกับโรคเบาหวานหรือไม่

  • ปัสสาวะบ่อย ถึงบ่อยมาก เนื่องจากกระบวนการกรองน้ำตาลในเลือดที่สูงมากออกมากทางปัสสาวะ ไตจำเป็นต้องดึงน้ำออกมาด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยยิ่งมีระดับน้ำตาลสูงมากเท่าใดก็ยิ่งปัสสาวะบ่อยและมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนหลายครั้ง
  • คอแห้ง กระหายน้ำ เป็นผลมาจากการที่ร่างกายเสียน้ำไปจากการปัสสาวะบ่อยและมาก ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำจึงต้องชดเชยด้วยการดื่มน้ำบ่อยๆ
  • หิวบ่อย กินจุ เนื่องจากร่างกายขาดพลังงาน จึงทำให้รู้สึกหิวบ่อย และรับประทานจุ
  • น้ำหนักลด เนื่องจากในภาวะที่ขาดอินซูลิน ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ ร่วมกับการขาดน้ำจากการปัสสาวะบ่อย ร่างกายจึงจำเป็นต้องนำเอาโปรตีนและไขมันที่เก็บสะสมไว้ในเนื้อเยื่อมาใช้แทน จึงทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • คันตามผิวหนัง
  • ตามัว ชาปลายมือ ปลายเท้า
  • เป็นแผลง่าย หายยาก
  • หมดความรู้สึกทางเพศ

ภัยเงียบเบาหวาน

เบาหวานเป็นภัยเงียบที่มาแบบไม่รู้ตัว เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการมาก่อน ดังนั้นในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน อาทิ มีภาวะอ้วน มีญาติหรือคนในครอบครัวสายตรงเป็นเบาหวาน เป็นต้น แม้ยังไม่มีอาการก็ควรตรวจคัดกรองเบาหวานเป็นประจำทุกปี เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนแสดงอาการ อาจเป็นหนักและเกิดผลข้างเคียงที่ยากจะรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้

เช็กตัวเองให้ห่างไกลเบาหวาน

การเช็กตัวเองอยู่เสมอช่วยให้ห่างไกลเบาหวานและผลข้างเคียงจากเบาหวานสิ่งที่ควรทำคือ

  • สังเกตตัวเอง อยู่เสมอว่ามีอาการผิดปกติตามสัญญาณข้างต้นหรือไม่
  • ดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันตัวเองจากเบาหวาน ทั้งการคุมอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  • ตรวจเช็กตัวเอง โดยการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลตามความเหมาะสม


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– เว็บพบแพทย์
– Samitivej Hospital
– โรงพยาบาลศิครินทร์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

ยังไม่มีบัญชี