‘แสงสีฟ้า’ เป็นหนึ่งในความยาวคลื่นที่ประกอบกันเป็นแสงสีขาวที่เราเห็นอยู่ปกติ ซึ่งเป็นแสงที่มาจากดวงอาทิตย์ ถ้าเราเอาไปผ่านปริซึม หรือผ่านละอองน้ำในอากาศ จะเห็นเป็นสีรุ้ง โดยความยาวคลื่นของแสงเริ่มตั้งแต่ช่วงสีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีแสด และสีแดง แสงเหล่านี้ยังมาจากทั้งจอคอมพิวเตอร์ จอโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงแสงไฟนีออนตามบ้านเรือนด้วย
ทำไมแสงสีฟ้าถึงอันตราย?
เพราะ ‘แสงสีฟ้า’ ค่อนข้างมีพลังงานสูง ถ้าเทียบกับความยาวคลื่นของแสงในช่วงอื่น ๆ แสงสีฟ้าจึงสามารถทะลุทะลวงอวัยวะอย่างดวงตาได้ตั้งแต่กระจกตา เลนส์แก้วตา ไปจนถึงจอประสาทตาที่อยู่ลึกที่สุดและสำคัญที่สุดได้ค่อนข้างเยอะ
อันตรายจากแสงสีฟ้าต่อดวงตา
เนื่องจากแสงสีฟ้ามีพลังงานสูง จึงสามารถทะลุทะลวงดวงตาได้ตั้งแต่กระจกตา เลนส์ตา ถึงจอตาด้านใน ส่งผลกับสุขภาพของดวงตาในอนาคตได้ หากมีการใช้สายตาแบบผิด อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำลายเซลล์รับแสงในจอประสาทตา ทำให้มีปัญหาจอประสาทตาเสื่อม หากเป็นรุนแรงมากอาจจะสูญเสียการมองเห็นได้
การได้รับแสงสีฟ้าหรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดต่อและสะสมกันเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดอาการดังนี้
- ภาวะตาล้า (Digital eye strain) ซึ่งทำให้เกิดอาการตามัว ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้ง แสบตา น้ำตาไหล
- เกิดปัญหาด้านการนอนหลับ เนื่องจากแสงสีฟ้าจะยับยั้งการหลั่งของสารเมลาโทนินที่ควบคุมวงจรการหลับและตื่น ส่งผลให้นอนหลับยากหรือรู้สึกหลับไม่สนิท
ภาวะตาล้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลีกเลี่ยงได้อย่างไร
- หยุดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 2 – 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
- ตั้งอุปกรณ์เป็นโหมดกลางคืน (night or dark mode) ในช่วงหัวค่ำ เพื่อช่วยลดความสว่างของหน้าจอและลดอุณหภูมิสีจอ
- ใช้หลัก 20 – 20 – 20 โดยละสายตาออกจากการใช้หน้าจอ ทุก ๆ 20 นาที ไปมองวัตถุที่อยู่ไกลออกไปอย่างน้อย 20 ฟุต เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที
- ปรับระดับความสว่างของหน้าจอให้เหมาะสม
- ปรับระดับของหน้าจอให้ต่ำลงกว่าระดับสายตา ประมาณ 10-15 องศา และนั่งห่างจากจอคอมพิวเตอร์ประมาณหนึ่งช่วงแขน หรือประมาณ 25 นิ้ว
ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุนการใช้แว่นเพื่อกรองแสงฟ้าขณะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ว่ามีความจำเป็นอย่างชัดเจน เนื่องจากการได้รับแสงฟ้าจากการใช้หน้าจอมีปริมาณน้อยกว่าที่ได้รับจากแสงอาทิตย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติมาก และยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนถึงการก่อให้เกิดความผิดปกติของจอตาในมนุษย์จากแสงฟ้า
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– รศ.พญ.สุภรัตน์ จริยโกศล ฝ่ายจักษุวิทยา
– มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKESHOP.COM