ระบบย่อยอาหารในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาท้องอืด ย่อยยากและอาหารไม่ย่อย โดยสาเหตุของปัญหาเหล่านี้เป็นเพราะอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ตั้งแต่การบดเคี้ยวอาหารในช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ที่บีบตัวได้น้อยลง อีกทั้งร่างกายยังหลั่งเอมไซน์ที่ใช้ในการย่อยได้น้อยกว่าปกติ หากปล่อยทิ้งไว้นานอาการก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง เกิดอาการเบื่ออาหารและเสี่ยงต่อสภาวะขาดสารอาหารในที่สุด

การทำงานของระบบย่อยอาหารในผู้สูงอายุ

ในการย่อยอาหาร ร่างกายมีระบบการทำงานเชิงกล คือ การเคี้ยว การกลืนผ่านหลอดอาหารที่ช่วยคลุกเคล้าอาหารที่กระเพาะและลำไส้ จากนั้นจะเป็นการย่อยเชิงเคมีโดยน้ำย่อยชนิดต่าง ๆ ซึ่งผลิตมาจากตับ ตับอ่อนและถุงน้ำดีในทางเดินอาหาร 

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ระบบย่อยและการดูดซึมสารอาหารจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเสื่อมถอยของร่างกาย ตั้งแต่การนำอาหารเข้าสู่ร่างกาย ความอยากทานอาหารที่ลดลง ฟันที่ใช้เคี้ยวอาหารโยกคลอน การบดเคี้ยวทำได้ไม่ดี การไหลผ่านของอาหารจากลำคอสู่กระเพาะอาหารช้าลง การบีบรัดตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหารลดลง จนถึงประสิทธิภาพการย่อยและดูดซึม น้ำย่อยในกระเพาะอาหารลดความเป็นกรดลง 

นอกจากนี้ ยังมีอาหารที่อาจย่อยได้ไม่หมดหรือย่อยได้ช้า ไม่ได้ผ่านมาถึงลำไส้ใหญ่ อาจสะสมกันจนเกิดเชื้อแบคทีเรียและปล่อยก๊าซออกมาทำให้ท้องอืด หรืออาจเกิดอาการท้องผูกจากการที่ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลง ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ย่อยง่าย เหมาะสมกับระบบย่อยอาหารของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

การดูแลระบบย่อยอาหารในผู้สูงอายุ

การดูแลระบบย่อยอาหารในผู้สูงอายุ เกี่ยวข้องกับอาหารและพฤติกรรมการกินที่จะช่วยให้การย่อยอาหารง่ายขึ้น และสามารถขับถ่ายได้ตามปกติ ผู้สูงอายุจึงควรดูแลสุขภาพตั้งแต่ช่องปาก ฟันและเหงือก เพื่อป้องกันโรคเกี่ยวกับฟัน ฟันปลอม ดูแลไม่ให้เกิดแผลในปาก รวมถึงงดสูบบุหรี่และดื่มเหล้า เพราะมีความเสี่ยงต่อโรคภายในช่องปาก ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำจิตใจให้แจ่มใส่ ไม่เครียด ออกกำลังกายเป็นประจำ และฝึกการขับถ่ายเพื่อป้องกันไม่ให้ท้องผูก ภาวะของโรคในผู้สูงอายุบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน มีโอกาสทำให้ท้องผูกได้ง่าย ผู้สูงอายุบางคนรับประทานอาหารน้อยลง และบางคนก็รับประทานอาหารที่มีกากใยไม่ค่อยได้ ก็เป็นสาเหตุให้ขับถ่ายยากและท้องผูกได้เช่นเดียวกัน

วิธีดูแลผู้สูงอายุให้ห่างไกลจากอาการท้องอืด

ปัญหาท้องอืด อาหารไม่ย่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้เพียงแค่เริ่มต้นปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตประจำวัน

1. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่ย่อยยาก เช่น ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อแดง ผักเนื้อแข็ง ตลอดจนนมจากสัตว์อย่างน้ำนมวัวที่มีโปรตีนชนิดย่อยยาก (แอลฟ่า เอสวัน เคซีน) อยู่ในปริมาณมาก อาจทำให้อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ในผู้สูงอายุทวีความรุนแรงมากขึ้น

 2. เลี่ยงอาหารที่เพิ่มแก๊สในกระเพาะ เช่น ถั่วและธัญพืช ของหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โซดาหรือน้ำอัดลม

3. ไม่รับประทานอาหารครั้งละมากๆ และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ยิ่งในผู้สูงอายุที่มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยเป็นประจำ ควรแบ่งทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ 4-5 มื้อ แทนการทานเป็นมื้อใหญ่

4. ดูแลสุขภาพช่องปากและฟันอยู่เสมอ สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ฟันปลอม ควรตรวจสอบว่าฟันปลอมยึดแน่นดีหรือไม่ หากมีช่องว่างระหว่างฟันปลอมและเหงือกจะทำให้ผู้สูงอายุกลืนอากาศเข้าไปด้วยในขณะที่รับประทานอาหาร ส่งผลให้มีแก๊สในกระเพาะอาหารมากขึ้นและอาจเกิดอาการจุกเสียด แน่นท้องได้ 5. เพิ่มกิจกรรมระหว่างวัน ปรับไลฟ์สไตล์ให้แอคทีฟ กระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารลำไส้ เพื่อกำจัดแก๊สออกจากร่างกายได้มากขึ้น อีกทั้งการหางานอดิเรกหรือกิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ จะช่วยลดความเครียดซึ่งเป็นอีกสาเหตุสำคัญของอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย

การกินเพื่อระบบย่อยอาหารที่ดี

การเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของระบบย่อยอาหาร ควรเริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่ช่วยให้ร่างกายสามารถย่อยได้ง่ายและช่วยในการขับถ่าย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อระบบย่อย ดังนี้   

  • ผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้แคลอรี่เพียงพอและรับประทานไขมันไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน 
  • ควรเน้นโปรตีนจากไข่ เนื้อสัตว์ และปลา และไม่ควรให้ผู้สูงอายุได้รับอาหารโปรตีนสูงเกินไป เนื่องจากอาจทำให้การย่อยและดูดซึมอาหารไม่ดี และเป็นภาวะเสี่ยงต่อไตในการขับถ่ายของเสีย 
  • ผู้สูงอายุบางคนที่ไม่ได้ดื่มนมเป็นประจำ อาจมีอาการท้องอืดหรือท้องเดินได้ เพราะร่างกายไม่สามารถย่อยคาร์โบไฮเดรตที่เป็นน้ำตาลแลคโตส จึงอาจค่อย ๆ ปรับสภาพร่างกายด้วยการเลือกนมที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลแลคโตสก่อน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เพราะอาจส่งผลให้อาหารไม่ย่อยได้ 
  • ควรรับประทานผักและผลไม้ทุกวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงใยอาหารที่จะช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น เช่น กล้วยน้ำว้าสุก ส้ม มะละกอ ชมพู่ เป็นต้น 
  • ผู้สูงอายุอาจรับประทานได้ไม่มาก จึงอาจแบ่งเวลารับประทานอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ 4 – 5 มื้อในช่วงวัน เพื่อร่างกายจะได้รับสารอาหารเพียงพอ 
  • ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ทำงานได้อย่างสมดุล 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– web family.abbott
– web vitasurehealthcare
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM

แชร์

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

No results found.

ยังไม่มีบัญชี