โรคหนองในมี 2 ประเภท ได้แก่
- โรคหนองในแท้ หรือโกโนเรีย (Gonorrhoea)
- โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis: NSU)
โรคหนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ที่เป็นโรคหนองในแท้อาจมีการติดเชื้อหนองในเทียมร่วมด้วย เชื้อสาเหตุของโรคหนองในแท้ คือ แบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae โดยมีอาการของโรค เช่น ผู้ชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีหนองไหลจากท่อปัสสาวะมักตรวจพบหนองที่บริเวณปากท่อปัสสาวะในบางรายมีอาการแทรกซ้อน เช่น ลูกอัณฑะอักเสบ ผู้หญิงส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ อาจมีตกขาวผิดปกติ ไม่คัน และอาจตรวจพบปากมดลูกอักเสบ มีหนองที่ปากมดลูกหรือช่องคลอดหรือพบหนองที่ทวารหนัก
ส่วนโรคหนองในเทียมเกิดจากการติดเชื้อ Chlamydia อาการที่พบ เช่น ผู้ชายจะมีอาการปัสสาวะแสบขัด อาจมีมูกใสหรือมูกขุ่น คันที่ท่อปัสสาวะ ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่มีอาการส่วนน้อยอาจมีตกขาว มักตรวจพบปากมดลูกอักเสบ
หนองในทั้ง 2 ประเภทเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน บทความนี้จึงจะพามารู้จักกับยาชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ตามประเภทของโรคหนองในเหล่านี้ว่ามีอะไรบ้าง
ยารักษาโรคหนองในแท้
ยารักษาหนองในแท้มีหลายตัว เช่น
- เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone)
- อะซิโทรไมซิน (Azithromycin)
- เซฟิไซม์ (Cefixime)
- เซฟโฟทาซีม (Cefotaxime)
- เซฟิไซม์ (Cefixime)
1.การติดเชื้อโกโนเรียอี (Gonorrhoeae) ที่ปากมดลูก ทางเดินปัสสาวะ ทวารหนัก และคอหอย ชนิดไม่ซับซ้อน
ยารักษาหนองในที่ใช้: เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 250 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ควบคู่ไปกับการกินอะซิโทรไมซิน (Azithromycin) 1 กรัม ครั้งเดียว หรือกินเซฟิไซม์ (Cefixime) 400 มิลลิกรัม ร่วมกับอะซิโทรไมซิน 1 กรัม ครั้งเดียว
2.การติดเชื้อโกโนเรียอี (Gonorrhoeae) ที่ปากมดลูก ทางเดินปัสสาวะ และทวารหนักชนิดซับซ้อน
ยารักษาหนองในที่ใช้: เซฟไตรอะโซน ขนาด 1 กรัม ฉีดเข้ากระแสเลือดร่วมกับการกินอะซิโทรไมซิน (Azithromycin) 1 กรัม ครั้งเดียว
3.การติดเชื้อโกโนเรียอีที่มีเยื่อบุตาอักเสบ (Gonorrhoeae Conjunctivitis)
ยารักษาหนองในที่ใช้: เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 1 กรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อร่วมกับการกินอะซิโทรไมซิน (Azithromycin) 1 กรัม ครั้งเดียว
4.การติดเชื้อ Gonococcal ที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Gonococcal Meningitis)
ยารักษาหนองในที่ใช้: เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 1–2 กรัม ฉีดเข้ากระแสเลือด ทุก 12–24 ชั่วโมง ร่วมกับการกินอะซิโทรไมซิน (Azithromycin) 1 กรัม ครั้งเดียว
5.การติดเชื้อ Gonococcal ในเด็กทารกแรกเกิด
ยารักษาหนองในที่ใช้: เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 25–50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ฉีดเข้ากระแสเลือดหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ครั้งเดียว ห้ามใช้ขนาดยาเกิน 125 มิลลิกรัม
6.การติดเชื้อโกโนเรียอี (Gonorrhoeae) ชนิดแพร่กระจายในเด็กทารกแรกเกิด (ทารกจะมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ข้อ และเยื่อหุ้มสมอง) และการติดเชื้อที่หนังศีรษะ (Gonococcal Scalp Abscesses)
ยารักษาหนองในที่ใช้: เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 25–50 มิลลิกรัม/กิโลกรัมต่อวัน ฉีดเข้ากระแสเลือดหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อวันละ 1 ครั้ง นาน 7 วัน
ถ้ามีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ให้รักษาต่อเนื่องนาน 7–14 วัน ยารักษาหนองในที่ใช้: เซฟโฟทาซีม (Cefotaxime) ขนาด 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ฉีดเข้ากระแสเลือด หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก ๆ 12 ชั่วโมง นาน 7 วัน
7.การติดเชื้อโกโนเรียอี (Gonorrhoeae) ชนิดไม่ซับซ้อน ในเด็กหรือทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 45 กิโลกรัม
ยารักษาหนองในที่ใช้: เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 25–50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ฉีดเข้ากระแสเลือดหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ห้ามใช้ขนาดยาเกิน 125 มิลลิกรัม
8.การติดเชื้อโกโนเรียอี (Gonorrhoeae) ชนิดไม่ซับซ้อน ในเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 45 กิโลกรัม
ยารักษาหนองในที่ใช้: เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 250 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ร่วมกับการกินอะซิโทรไมซิน (Azithromycin) 1 กรัม ครั้งเดียว หรือกินเซฟิไซม์ (Cefixime) 400 มิลลิกรัม ร่วมกับอะซิโทรไมซิน (Azithromycin) 1 กรัม ครั้งเดียว
9.การติดเชื้อโกโนเรียอี (Gonorrhoeae) ร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือติดเชื้อในข้อ ในเด็กหรือทารกที่มีน้ำหนักตัวไม่เกิน 45 กิโลกรัม
ยารักษาหนองในที่ใช้: เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ฉีดเข้ากระแสเลือดหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว นาน 7 วัน ห้ามใช้ขนาดยาเกิน 1 กรัม
10.การติดเชื้อโกโนเรียอี (Gonorrhoeae) ร่วมกับมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือติดเชื้อในข้อ ในเด็กหรือทารกที่มีน้ำหนักตัวไม่เกิน 45 กิโลกรัม
ยารักษาหนองในที่ใช้: เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม ฉีดเข้ากระแสเลือดหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ทุก ๆ 24 ชั่วโมง นาน 7 วัน
ยารักษาโรคหนองในเทียม
โรคหนองในชนิดหนองในเทียม แนะนำให้กินอะซิโทรไมซิน (Azithromycin) 1 กรัม ครั้งเดียว หรือ กินด็อกซี่ไซคลิน (doxycycline) วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น นาน 7 วัน
ถ้าอาการยังไม่หายภายใน 2 อาทิตย์ ให้ไปหาแพทย์ซ้ำอีกครั้ง เพื่อปรับเปลี่ยนการรักษา อาจต้องกินยาตัวเดิมนานขึ้นหรือกินยาหลาย ๆ ตัวพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันคนที่ป่วยโรคหนองในแท้กว่า 20% จะเป็นโรคหนองในเทียมร่วมด้วย สองโรคนี้จึงมีโอกาสเกิดพร้อมกันได้ ถ้าไม่รีบรับรักษา อาจจะลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง
ข้อแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยารักษาหนองใน
เพื่อให้รักษาหนองในได้อย่างถูกต้องปลอดภัย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- แจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเกี่ยวกับโรคประจำตัวที่เป็น ประวัติการใช้ยาในปัจจุบัน รวมถึงประวัติการแพ้ยา เพื่อไม่ให้ยาตีกันหรือแพ้ยาซ้ำ เพราะยาปฏิชีวนะบางตัวอาจขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาชนิดอื่น ๆ หรือยิ่งทำให้ยาบางชนิดมีฤทธิ์รุนแรงขึ้นได้
- ยาปฏิชีวนะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ
- ถ้าใช้ยาปฏิชีวนะแล้วมีอาการหายใจไม่สะดวก ลำคอตีบตัน ผื่นขึ้นตามตัว เนื้อเยื่ออ่อนต่าง ๆ บวม เช่น บริเวณตาและปาก ควรหยุดยาและพบแพทย์ทันที เพราะอาจแพ้ยาชนิดนั้น ๆ ได้
- ผู้ที่มีภาวะโรคตับและไต ควรระมัดระวังการใช้ยาฆ่าเชื้อ และปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ เนื่องจากยาอาจทำให้อาการของโรคตับและโรคไตหนักขึ้น
- ไม่ควรซื้อยาฆ่าเชื้อหรือยาต้านจุลชีพใช้เอง เพราะเชื้อจุลชีพมีหลายชนิด ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา ต้องให้แพทย์วินิจฉัยโรคก่อนจ่ายยาทุกครั้ง เพื่อประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด ซึ่งยาจะต้องออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อนั้น ๆ และป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยาที่อาจขึ้นได้ด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– หน่วยเภสัชสนเทศและบริการสังคม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
– hdmall
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM