ปัญหาขับถ่ายยาก ไม่ถ่ายหลายวัน หรือต้องออกแรงเบ่งมากในระหว่างการขับถ่าย เมื่อพูดถึงอาการเหล่านี้หลายคนก็คงด่วนวินิจฉัยไปก่อนแล้วว่า น่าจะเกิดจากอาการท้องผูก แต่รู้หรือไม่ว่า สาเหตุของอาการท้องผูกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการที่ลำไส้เคลื่อนตัวช้า หรือที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่าลำไส้ขี้เกียจ
โรคลำไส้ขี้เกียจ คืออะไร?
โดยปกติลำไส้ในร่างกายของมนุษย์ทุกคนจะมีการเคลื่อนตัวเป็นจังหวะ เพื่อนำส่งของเสียไปยังปลายสุดของลำไส้ แล้วขับถ่ายออกมาจากนอกร่างกาย แต่ภาวะท้องผูกจากลำไส้เคลื่อนตัวช้าหรือลำไส้ขี้เกียจ (Slow Transit Constipation) เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อของลำไส้ ซึ่งส่งผลทำให้การขยับตัวของลำไส้เพื่อนำส่งอุจจาระทำงานช้าลง หรือมีการบีบตัวช้า ส่งผลให้ของเสียที่อยู่ในลำไส้เคลื่อนตัวได้ช้าลงจนกระทบต่อกิจวัตรการขับถ่าย และมีอาการท้องผูก ทำให้รู้สึกถึงความยากลำบากที่เพิ่มมากขึ้นในการขับถ่ายแต่ละครั้ง เช่น ต้องเบ่งอุจจาระแรงๆ จึงจะถ่ายออก ขับถ่ายออกมาแล้วแต่รู้สึกว่ายังถ่ายไม่สุด ระหว่างเบ่งอุจจาระแล้วจะรู้สึกเจ็บ หรือไม่อุจจาระเลยตลอดระยะเวลา 2-3 สัปดาห์
โรคลำไส้ขี้เกียจ กินให้ดีและปรับพฤติกรรม ช่วยรักษาได้
พฤติกรรมที่ส่งผลดีต่อลำไส้
- ดื่มน้ำ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วต่อวัน
- กินผักและผลไม้
- อย่ากลั้นอุจจาระ
- อย่าใช้อุปกรณ์ช่วยในการขับถ่าย ทำให้หูรูดอ่อนแรงและถ่ายยาก
- การรักษา ยาระบายถ้าต้องใช้ต่อเนื่องควรปรึกษาแพทย์
วิธีรักษาอาการภาวะลำไส้ขี้เกียจ (Slow Transit Constipation)
การรักษาภาวะลำไส้ขี้เกียจนั้นสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่
- กินยาระบายและยาปรับการเคลื่อนตัวของลำไส้ ร่วมกับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การกินอาหารที่เสริมการขับถ่าย การออกกำลังกายซึ่งมีส่วนช่วยให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนตัวบ่อยขึ้น ในระหว่างนั้นแพทย์ก็จะนัดหมายให้เข้ามาตรวจดูการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวบริเวณลำไส้อยู่เรื่อยๆ
- ผ่าตัดนำลำไส้ส่วนที่ผิดปกติออกหรืออาจทั้งหมด เป็นการต่อยอดจากวิธีแรก มักใช้ในกรณีกินยาแล้วไม่ได้ผล และตรวจเพิ่มเติมพบความผิดปกติของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบริเวณลำไส้ที่มีการเสียหายโดยสมบูรณ์ และไม่มีส่วนอื่นของทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก ที่มีความผิดปกติในเรื่องของการเคลื่อนตัวช้า
แพทย์จะเป็นผู้ประเมินแนวทางการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย แต่โดยส่วนใหญ่มักเริ่มการรักษาด้วยการใช้ยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อน หากไม่ดีขึ้นจึงค่อยพิจารณาขยับวิธีรักษามาเป็นการผ่าตัดลำไส้ต่อไป
โรคลำไส้ขี้เกียจ หากปล่อยไว้อันตรายอย่างไร?
หากไม่รีบรักษาภาวะลำไส้ขี้เกียจ ก็มีโอกาสที่อาการจะรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจตรวจพบลำไส้โป่งพองหรือเป็นกระเปาะ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ หรือหนาวสั่นได้
หรืออาจเกิดแผลที่ลำไส้ ปัญหาอุจจาระเต็มท้อง และหากอาการรุนแรงมากขึ้นอาจพบมูกเลือดปนกับอุจจาระในระหว่างขับถ่ายได้
โรคลำไส้ขี้เกียจ หายขาดได้หรือไม่?
การรักษาภาวะลำไส้เคลื่อนตัวช้าควรมีการตรวจ การประเมินอาการและรักษาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเมื่อตรวจพบภาวะลำไส้เคลื่อนตัวช้าจะพิจารณาด้วยการรักษาด้วยยาก่อน ซึ่งคนไข้ส่วนหนึ่งจะตอบสนองต่อยาได้ดี
ในส่วนที่ไม่ตอบสนองอาจต้องมีการพิจารณาว่ามีสาเหตุอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ระบบประสาทหรือระบบตอบสนองการทำงานของกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่เสียหายโดยสมบูรณ์หรือไม่ และรวมไปถึงการประเมินเพิ่มเติมว่า ทางเดินอาหารส่วนอื่นมีการเคลื่อนตัวช้าร่วมด้วยหรือไม่ จึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ส่วนที่เสียหายหรือทั้งหมดออก
ใช้ยาระบายบ่อย ๆ อาจเกิดภาวะลำไส้ขี้เกียจ
ผู้ป่วยท้องผูกหรือมีอาการขับถ่ายลำบากที่ใช้กลุ่มยาระบายกระตุ้นลำไส้เป็นประจำนั้น มักทำให้เกิดปัญหาภาวะลำไส้ติดยา หรือลำไส้ขี้เกียจ (Lazy Bowel) ตามมา ซึ่งภาวะดังกล่าวทำให้ไม่สามารถขับถ่ายได้เอง แต่ภาวะนี้สามารถรักษาได้ด้วยการพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และปรับยาระบายให้เหมาะสม จนกระทั่งสามารถหยุดยากระตุ้นลำไส้ได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
– โรงพยาบาลเวทธานี
– เว็บ hdmall
– คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงข้อมูลโดย: CHULALAKPHARMACY.COM